ถังหมักเศษอาหารระดับชุมชน

การบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเริ่มต้นจากครัวเรือนและชุมชน ในประเทศไทยขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ40-50 ของสัดส่วนขยะมูลฝอยทั้งหมด หากสามารถแยกขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ออกจากขยะมูลฝอยและนำมาแปรรูปเป็นสารปรับปรุงดินได้จะสามารถช่วยลดปริมาณขยะลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้นยังช่วยให้ขยะมูลฝอยในส่วนที่เหลือสามารถนำไปคัดแยกและรีไซเคิลได้ง่ายอีกด้วย ถังหมักขยะเศษอาหารระดับชุมชนสามารถจัดการขยะเศษอาหารและขยะอินทรีย์ได้ 50-100 กิโลกรัมต่อการหมัก 1 ครั้ง ซึ่งใช้ระยะเวลาการหมัก 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับประเภทของวัตถุดิบ วัสดุหมักใช้ปุ๋ยขี้วัวและสารละลายพด. 1 ผสมเพื่อเป็นจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยเศษอาหาร อุณหภูมิการหมักอยู่ที่ประมาณ 50-60 องศาเซลเซียส ปัจจุบันถังหมักขยะเศษอาหารมีการใช้งานอยู่ ณ ชุมชนเดชเจริญ เทศบาลเมืองคูคต จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบด้านการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชนในเขตเทศบาลเมืองคูคตแบบบูรณาการ

 

จุดเด่นของผลงานถังหมักเศษอาหารระดับชุมชน

– ถังหมักเศษอาหารระดับชุมชนผ่านการวิจัยและพัฒนาทั้งด้านการออกแบบ การผลิต และการพัฒนากระบวนการหมักที่เหมาะสม
– ถังหมักเศษอาหารใช้งานง่าย ใช้วัสดุหมักได้หลากหลาย และได้ผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินที่มีคุณภาพสูง
– ถังหมักเศษอาหารผลิตในประเทศไทยมีบริการหลังการขายที่รวดเร็วและมีคุณภาพ

ผลงานวิจัยโดย :
รศ.ดร.ชินธันย์ อารีประเสริฐ และคณะฯ
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 08-6358-2695

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
รศ.ดร.ชินธันย์  อารีประเสริฐ

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6