การประยุกต์ใช้ถ่านกัมมันต์ในบรรจุภัณฑ์ และแผ่นชะลอการสุกของผลไม้

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีผลไม้ และพืชผลทางการเกษตรมากมาย โดยเฉพาะผลไม้ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยหอม ทุเรียน สับปะรด เป็นต้น เนื่องจากผลไม้ไทย มีคุณภาพดีและมีรสชาติอร่อย เป็นที่ต้องการของ ผู้ซื้อทั่วโลก แต่ยากในการดูแลรักษาคุณภาพสินค้าเพราะหลังการเก็บเกี่ยว โดยธรรมชาติพืชผักผลไม้สดยังคงมีการหายใจตามอัตราปกติเหมือนตอนที่ติดอยู่บนลำต้น ซึ่งกระบวนการหายใจของผลไม้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลไม้สูญเสียความสด หากวางพืชผักผลไม้ในพื้นที่ที่มีระดับก๊าซออกซิเจนมาก ยิ่งส่งผลให้ผลผลิตเหี่ยวได้ง่าย  จึงได้ทำการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์แผ่นชะลอการสุกของผลไม้โดยการผสมถ่านกัมมันต์ ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยสร้างผลดีต่อธุรกิจสินค้าเกษตรไทยในวงกว้าง เพราะช่วยชะลอการสุกงอม การสร้างก๊าซเอทิลีน ตลอดจนลดการเปลี่ยนสี กลิ่น และคุณค่าทางอาหารของผลผลิต ทำให้ผลไม้สดสมบูรณ์จนถึง  มือผู้บริโภคได้ในปริมาณมากขึ้น ลดปริมาณความเสียหายของสินค้าเกษตรให้ลดลง โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก

งานวิจัยนี้เป็นการนำถ่านกัมมันต์ที่พัฒนาจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นตัวดูดซับ เอทิลีน โดยใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตถ่านกัมมันต์ ด้วยวิธีการกระตุ้นทางกายภาพและทางเคมี เพื่อให้ได้ถ่านกัมมันต์ที่มีรูพรุนขนาดเล็ก ในระดับ Mesopore และ micropore ซึ่งถ่านกัมมันต์ที่มีรูพรุนขนาดเล็กนี้  จะมีความเหมาะสมต่อการนำไปดูดซับไอออนของโลหะและแก๊สชนิดต่างๆ ซึ่งในงานวิจัยนี้จะใช้ถ่านกัมมันต์ที่ผลิตได้มาพัฒนาเป็นตัวดูดซับแก๊สเอทิลีนที่เกิดจากกระบวนการสุกของผลไม้ และ แผ่นชะลอการสุก Actvated carbon paper

การใช้ประโยชน์ถ่านกัมมันต์ในบรรจุภัณฑ์ และแผ่นชะลอการสุกของผลไม้

1.มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากการทำวิจัยสามารถนำผลิตภัณฑ์แผ่นชะลอการสุกที่ได้ ไปช่วยในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร และ ภาคอุตสาหกรรม ในเรื่องของการส่งออกผลไม้ไทย ไปยังต่างประเทศ ซึ่งหากเราสามารถชะลอการสุกของผลไม้ได้ ก็จะทำให้เกษตรกร มีเวลาในการจำหน่ายผลไม้ที่มีคุณภาพดี  นานขึ้น เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

2.องค์ความรู้ใหม่ สามารถนำองค์ความรู้เรื่องถ่านกัมมันต์มาประยุกต์ใช้ในการทำเป็นผลิตภัณฑ์ แผ่นชะลอการสุกของผลไม้ เพื่อชะลอการสุกของผลไม้ระหว่างส่งออกไปต่างประเทศ ในงานวิจัยนี้ ไม่เพียงแต่ได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนและกระบวนการการสุกของผลไม้ ยังทราบถึงเทคนิคในการใช้ด่างทับทิม มาช่วยเสริมในการทำเป็นผลิตภัณฑ์แผ่นชะลอการสุกควบคู่ไปกับถ่านกัมมันต์ด้วย

ผลงานวิจัยโดย :
รศ.ดร.ศิริกาญจนา ทองมี  นางสาวลักษณาพร ศรีดาวงษ์  นายธนวัฒน์ อิ่มบุญ  ดร.พุฒิพล นาคะรังสี
ภาควิชาฟิสิกส์  คณะวิทยาศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โทร. 08-6999-3234

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
รศ.ดร.ศิริกาญจนา  ทองมี

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6