กรรมวิธีการผลิตน้ำยางธรรมชาติ ที่ทำให้ความหนืดคงที่และลดมอดูลัส

ยางพารา หรือยางธรรมชาติเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศไทย โดยยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางจัดเป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับต้น ๆ ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทย ผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่มีการส่งออกจำหน่ายไปยังต่างประเทศและทำรายได้ให้แก่ประเทศ ได้แก่ ยางแท่งมาตรฐาน และผลิตภัณฑ์น้ำยางข้น ซึ่งยางแท่งมาตรฐานเป็น

วัตถุดิบที่ได้จากน้ำยางและยางก้อนถ้วย ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางนิยมนำไปใช้ในกระบวนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางประเภทต่างๆ ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นของยางแท่ง คือ เมื่อมีการจัดเก็บยางเอาไว้เป็นเวลานาน ทำให้ยางมีความแข็งและความหนืดเพิ่มขึ้น หรือเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Storage hardening ซึ่งส่งผลเสียต่อกระบวนการผลิต เนื่องจากยางพาราที่มีความหนืดเพิ่มขึ้นจะทำให้มีมอดูลัสสูงขึ้น และนอกจากนี้ยางพารายังพบปัญหาเรื่องการเกิดกลิ่นที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ดังนั้นโครงการวิจัยนี้จึงพัฒนากรรมวิธีในการควบคุมความหนืดและการลดมอดูลัสในยางธรรมชาติ โดยการใช้สารควบคุมความหนืดและสารป้องกันการเสื่อมสภาพในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มกระบวนการในการปั่นเหวี่ยงด้วยความเร็วสูง เพื่อให้ได้ ยางที่มีความหนืดคงที่ ลดค่ามอดูลัส และสามารถลดกลิ่นได้

ด้านเศรษฐกิจ: ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ด้านยาพาราและวัสดุขั้นสูงรูปใหม่ ๆ ส่งออกไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น และส่งผลทำให้สินค้าส่งออกมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรและภาคธุรกิจด้านยางพารามีรายได้เพิ่มขึ้น

ด้านการศึกษาและวิชาการ: มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้ในวารสารระดับนานาชาติจำนวน 2 ผลงานให้แก่บุคคลทั่วไปได้ศึกษาดังนี้

– ผลงานตีพิมพ์เรื่องที่ 1 : Non-Covalent Interaction on the Self-Healing of Mechanical Properties in Supramolecular Polymers ได้รับการตีพิมพ์ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences ของสำนักพิมพ์ MDPI ใน Volume 23 Issue 13 โดยวารสารนี้มี Impact Factor: 6.208 (2021) อยู่ใน Q1

– ผลงานตีพิมพ์เรื่องที่ 2 : Recent Developments in Shape Memory Elastomers for Biotechnology Applications ได้รับการตีพิมพ์ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ในวารสาร Polymers ของสำนักพิมพ์ MDPI ในVolume 14 Issue 16 โดยมี Impact Factor: 4.967 (2021) อยู่ใน Q1

ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม: งานวิจัยจากโครงการนี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดกลิ่นของยางพารา รวมถึงกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคการทดสอบแบบใหม่จากโครงการนี้

ผลงานวิจัยโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์  สมิทธิพงศ์  ดร.สุพิชตา เสือเฒ่า
นายขวัญชัย  บวกสันเทียะ  และนางสาวปิยะนุช  พรมขาวทอง
ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 091-7809-569

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
รองศาสตราจารย์ ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6