กล้วยปากช่อง KU 46
กล้วยปากช่อง KU 46 เป็นกล้วยน้ำว้าลูกผสมพันธุ์ใหม่ของประเทศไทยที่มีจำนวนชุดโครโมโซม 4 ชุด เป็นเตตระพลอยด์ ABBB ตรวจวิเคราะห์ชุดโครโมโซมด้วยเทคนิคโฟลไซโตมิทรี เกิดจากเมล็ดพันธุ์ที่ผสมตามธรรมชาติ ระหว่าง กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 (ต้นแม่) กับ กล้วยเล็บช้างกุด (ต้นพ่อ) โดยใช้วิธีวิเคราะห์ DNA ค้นหาพ่อพันธุ์ด้วยวิธีวิเคราะห์ข้อมูลสนิปส์(SNPs) มีลักษณะประจำพันธุ์ ทรงต้นสูงปานกลาง 2.5-3.5 เมตร รอบวงลำต้น 80-100 ซม. ผลผลิตปานกลาง น้ำหนักเครือประมาณ 20-30 กิโลกรัม จำนวนหวี 8-10 หวี ลักษณะผลสั้น ค่อนข้างกลม ขนาดผลใหญ่สม่ำเสมอ จุกผลสั้น ก้านผลยาว ผิวผลสีเขียว เปลือกหนาปานกลาง ผลดิบเนื้อผลสีขาวและอมส้มเล็กน้อย เวลาสุกเนื้อสีเหลืองอมส้ม เนื้อแน่น เหนียวนุ่ม รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย แต่หากสุกงอมจะหวานมาก (ประมาณ 30%Brix) ลักษณะการเรียงตัวของผลในหวีเป็นระเบียบเหมาะกับการขนส่งบรรจุกล่อง ใช้ในการแปรรูปได้หลายอย่างคล้ายกล้วยน้ำว้า ที่สำคัญมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยพบว่า มีแป้งต้านทานการย่อยผลดิบ 35.34% ต่ำกว่ากล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 แต่มีสารประกอบฟีนอลิกในผลดิบ (3.20 mgGAE/g.) และผลสุก(11.33 mgGAE/g.) สูงกว่ากล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ( ผลดิบ 1.71 mgGAE/g. , ผลสุก 0.88 mgGAE/g.) เป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกัน และยังพบว่ามีสารเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี ในผลสุก ในขณะที่กล้วยน้ำว้าปากช่อง 50 ตรวจไม่พบ จากคุณสมบัติที่กล่าวมากล้วยปากช่อง KU 46 จึงเหมาะกับต้องการขอผู้บริโภคและตลาดกล้วยผลสดเพื่อสุขภาพในอนาคต
กล้วยปากช่อง KU 46 เป็นกล้วยที่เหมาะสำหรับเป็นกล้วยเพื่อรับประทานผลสด จากลักษณะของทรงผลอ้วนกลมน่ารับประทานเป็นไปตามความต้องการข้อผู้บริโภคกล้วยผลสด ทรงต้นที่ไม่สูงใหญ่เกินไป จนเป็นปัญหาในพื้นที่ปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิต และยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถแปรรูปได้เหมือนกล้วยน้ำว้าทั่วไป ได้แก่ กล้วยเชื่อม กล้วยบวชชี กล้วยกวน กล้วยฉาบ กล้วยทอด(กล้วยแขก) กล้วยปิ้ง ดอก(ปลี)นำมาใช้ทำอาหารได้ไม่มีรสฝาด เช่นรับประทานเป็นผักสด คู่กับน้ำพริก ผัดไท ขนมจีน นำดอกไปแกงเลียง แกงข่าไก่ ยำหัวปลี ลาบหัวปลี ทอดมันหัวปลี ใบใช้ในการห่อของ ลำต้นเป็นอาหารสัตว์ ทำเชือกกล้วย ทำกระดาษ ทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น จึงเหมาะที่จะส่งเสริมให้ปลูกเป็นไม้ผลคู่ครัวเรือนในยุคปัจจุบัน เพื่อเป็นเสบียงคู่ครัวและเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคในการรับประทานกล้วยผลสดที่มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารและยา และยังสามารถส่งเสริมทางเลือกที่หลากหลายของกล้วยตัดผลสดเพื่อเพิ่มมูลค่าการผลิตกล้วยในทางการค้าให้กับเกษตรกรได้ในอนาคต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กัลยาณี สุวิทวัส สถานีวิจัยปากช่อง ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 08-9844-6293
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
กัลยาณี สุวิทวัส
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6