ไบโอชาร์เหง้ามันสำปะหลัง

ไบโอชาร์ หรือ ถ่านชีวภาพ เป็นวัสดุที่อุดมไปด้วยคาร์บอน ผลิตจากมวลชีวภาพที่ผ่านกระบวนการแยกสลายด้วยความร้อน (pyrolysis) Ricks,2007) ไบโอชาร์มีโครงสร้างที่ประกอบด้วยคาร์บอนเสถียร (Sohi et al., 2009) จึงทนต่อการย่อยสลายและคงอยู่ในดินได้ยาวนานกว่าอินทรียวัตถุ 10-1,000 เท่า (Verheijen et al., 2010) รูพรุนที่อยู่บนพื้นผิวของไบโอชาร์ มีบทบาทสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในด้านการอุ้มน้ำ ความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุบวก และการไหลเวียนของธาตุอาหารในดิน เพิ่มที่อยู่อาศัยให้กับจุลินทรีย์ในดิน ที่มีบทบาทต่อการเกิดเม็ดดิน เป็นการเพิ่มผลิตภาพของดิน ความเสถียรสูงของคาร์บอนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินเป็นระยะเวลานาน

การใช้ประโยชน์ / จุดเด่น

มันสำปะหลังนอกจากจะใช้หัวเป็นผลผลิตหลักใช้เป็นอาหารมนุษย์ หรือใช้เป็นอาหารสัตว์แล้ว ส่วนที่เหลือ เช่น ใบสามารถใช้เป็นอาหารมนุษย์และสัตว์ ลำต้นใช้ทำเป็นท่อนพันธุ์ ส่วนกิ่งและลำต้นอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ เหง้าที่เหลือทิ้งในแปลง สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง หรือนำมาเผาเป็นไบโอชาร์ ซึ่งไบโอชาร์ที่ผลิตจากเหง้ามันสำปะหลังจะมีปริมาณอินทรีย์คาร์บอนที่กักเก็บไว้ในดินได้สูงสุด 50.06% มีสมบัติการอุ้มน้ำสูง 82.89% ความหนาแน่น 0.058 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร มีความเป็นด่าง (pH =8.21)  จุดเด่นดังกล่าว เหง้ามันสำปะหลัง จึงมีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์ผลิตเป็นไบโอชาร์ปรับปรุงดิน เพื่อการจัดการดินอย่างยั่งยืนต่อไป (สำนักวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร, 2556)

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ดร. กิ่งกานท์  พานิชนอก สถานีวิจัยเขาหินซ้อน
สกล  ฉายศรี  สถานีวิจัยลพบุรี คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 08-9948-9892

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ดร. กิ่งกานท์  พานิชนอก และ สกล  ฉายศรี

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6