นวัตกรรม รางระนาดทุ้มถอดประกอบ+ขาตั้ง
รางระนาดทุ้มถอดประกอบ+ขาตั้ง Removable Ranadthum ” นวัตกรรมส่งเสริมดนตรีไทยด้วยคุณสมบัติโดดเด่น คือ มีความสะดวกในการใช้งาน สามารถขนส่งเคลื่อนย้าย และจัดเก็บระนาดทุ้มได้อย่างเหมาะสมตอบโจทย์วิถีการแสดงดนตรีไทยในปัจจุบัน ได้รับรางวัลรองชนะเลิศประเภทบุคลากรซีเนียร์ สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากการประกวดนวัตกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2563
ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงการจัดบรรเลงดนตรีที่มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป จากเดิมมีการใช้เก้าอี้นั่งและใช้โต๊ะวางเครื่องดนตรี ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่สะดวกต่อสถานที่จัดบรรเลง นำมาสู่นวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกในการใช้งาน ขนส่ง เคลื่อนย้าย และจัดเก็บ ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้ใช้งานได้จริงเหมาะสมกับบริบทและวิถีการปฏิบัติแสดงงานของนักดนตรีไทย โดยพัฒนาออกแบบรางระนาดทุ้ม ให้สามารถถอดประกอบได้และมีขาตั้ง เน้นแยกชิ้นส่วน ถอดประกอบได้ เพื่อให้ใช้งานได้ดีมีความสะดวกสบายช่วยประหยัดพื้นที่การจัดเก็บ แต่ยังคงรูปลักษณะความสวยงามดั้งเดิมแบบโบราณ สอดคล้องกับวิถีดนตรีไทย สามารถนั่งเล่นในระดับสูงโดยไม่ต้องใช้โต๊ะรองวางเครื่องดนตรี และหากถอดขาตั้งออกก็สามารถนั่งเล่นกับพื้นได้ตามปกติ
สำหรับวัสดุที่ใช้ในการทำรางระนาดทุ้ม คือ ไม้สนอเมริกาซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไม้แปรรูปคุณภาพดีได้รับการตรวจวิเคราะห์และรับรองมาตรฐานจากสถาบันไม้สน (SPIB : Southern Pine Inspection Bureau) และผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการวิเคราะห์มาตรฐานไม้ของประเทศสหรัฐอเมริกา (ALSC : American Lumber Standard Committee, Inc.) โดย ไม้สนอเมริกา เป็นวัสดุที่มีความคงทนสวยงาม และมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีคุณสมบัติทางธรรมชาติที่เหมาะสม ได้แก่ มีความแข็งแกร่งสูง คงทนต่อการเสียดสี ลายไม้สวย มีการจัดการความแห้งตามมาตรฐาน มีพลังการยึดเกาะตะปู มีการป้องกันการผุ เชื้อโรค ปลวก และเชื้อรา อีกทั้ง มีราคาประหยัดและช่วยลดต้นทุนในการผลิตนอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์เพิ่มเติมสำหรับการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ของราบระนาดทุ่ม คือ บูทบานพับสวมถอดได้ และบูทสวมขาตั้งจากนั้น นำชิ้นส่วนของระนาดทุ้ม 9 ชิ้น มาประกอบกัน ได้แก่ ส่วนพื้นท้อง 1 ชิ้น เท้าราง 4 ขา (4 ชิ้น) กาบราง 2 ชิ้น และใบโขน แขวนผืนระนาด 2 ใบ ก็สำเร็จเป็น “รางระนาดทุ้มถอดประกอบ+ขาตั้ง Removable Ranadthum”