การประยุกต์ใช้วัคซีนเชื้อตายแบบรวมเพื่อการป้องกันโรคแบคทีเรียที่สร้างความเสียหาย ในการเลี้ยงปลากะพงขาว (Lates calcarifer) ในบ่อดิน

ปัจจุบันธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อดินประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อหลายชนิดทั้งที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักและยังเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลทั้งระบบ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas schubertii, Edwardseilla tarda, Staphylococcus warneri และ Streptococcus agalactiae ทำให้เกษตรกรพยายามแก้ไขปัญหาโดยการใช้ยาและสารเคมี ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาค่อนข้างจำกัด ทั้งยังเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างมาก อีกทั้งยังส่งผลต่อการเกิดการสะสมของสารเคมีตกค้างทั้งในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การประยุกต์ใช้วัคซีนเพื่อการป้องกันโรคถือเป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากงานวิจัยจำนวนมากในสัตว์เศรษฐกิจหลายชนิดว่าเป็นวิธีที่มีความยั่งยืน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกร อย่างไรก็ตามจากข้อมูลในปัจจุบันนั้น พบว่ายังไม่มีวัคซีนที่ถูกออกแบบหรือสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อใช้สำหรับการป้องกันโรคในการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาว ซึ่งอาจมีสาเหตุของการเกิดโรคหรือสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรคที่พบที่แตกต่างจากสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นที่เพาะเลี้ยงในประเทศไทย

คณะวิจัยได้นำเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas schubertii, Edwardseilla tarda, Staphylococcus warneri และ Streptococcus agalactiae ที่เพาะแยกได้จากปลากะพงขาวป่วยในพื้นที่การเลี้ยงจริง และได้ทำการทดสอบยืนในทั้งในระดับจุลชีววิทยาและอณุชีววิทยาโมเลกุลและยังพบว่าเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายต่อการเพาะเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อดินมาอย่างต่อเนื่อง มาใช้ในการผลิตวัคซีนชนิดออโตจีนัสวัคซีนซึ่งถือเป็นรูปแบบการผลิตที่พัฒนาได้ง่าย ใช้เวลาในการพัฒนาน้อยและได้เชื้อสายพันธุ์ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดการระบาดของโรคในพื้นที่อย่างที่สุด มาประยุกต์ใช้เพื่อการป้องกันความเสียหายจากโรคติดเชื้อเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพในสภาพการเลี้ยงจริงของเกษตรกร จุดเด่นผลิตภัณฑ์

สามารถให้วัคซีนซ้ำได้ในรูปแบบของการผสมอาหารหลังจากเลี้ยงปลาไปแล้ว โดยไม่ต้องนำปลากับมาฉีดซ้ำอีกครั้ง ทำให้เกษตรกรสามารถทำงานได้สะดวกและสามารถป้องกันโรคที่เกิดจากแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีการใช้ยาและสารเคมีที่เป็นอันตรายเลยระหว่างการเลี้ยง และยังพบว่าการให้วัคซีนที่ผลิตขึ้นส่งผลให้ปลาทดลองมีอัตราการเจริญเติบโต โดยเฉพาะน้ำหนักที่ได้ระหว่างการเลี้ยงสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนอย่างชัดเจน ทั้งยังส่งผลให้ต่อเนื่องให้เกษตรกรมีผลผลิตและกำไรจากการเลี้ยงปลามากขึ้นในที่สุด

การเกิดโรคที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียที่สร้างความเสียหายเฉียบพลันและเรื้อรังระหว่างการเลี้ยงปลากะพงขาวในบ่อดิน
การให้วัคซีนปลาทดลองโดยการฉีด ในพื้นที่การเลี้ยงปลากพงขาวของเกษตรกร

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ผศ.ดร.ประพันธ์ศักดิ์ ศีรษะภูมิ1 ผศ.ดร.นสพ.พัฒนพล ขยันสำรวจ1 และ ถิรวัฒน์ รายรัตน์2
1ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 081-5659-924 E-mail: ffispssp@ku.ac.th

เรียบเรียงโดย
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th