สวพ.มก. เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (รุ่นที่ 2)
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัย
เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (รุ่นที่ 2)
ยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยในรูปแบบเอกสาร (hard copy) เท่านั้น
ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2566 (เวลา 17.00 น.)
ด้วยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศ โดยมีนโยบายสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มศักยภาพกำลังคน และพัฒนาวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์สู่ภาคเกษตรกรรม วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ รวมทั้งรองรับการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลก ทางด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ และพัฒนาศักยภาพในการทำวิจัยของนักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การสนับสนุนทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดังนี้
1. เป้าหมายการวิจัย
สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยของนักวิจัย ภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย ของมหาวิทยาลัยฯ โดยมุ่งเน้นพัฒนางานวิจัยพื้นฐานเชิงลึก และงานวิจัยประยุกต์ เพื่อพัฒนาศูนย์วิจัยและสถานีวิจัยให้มีความเข้มแข็งและผลิตผลงานที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของหน่วยงาน สนับสนุนให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการและเป็นเอกภาพ และแก้ปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศ รวมทั้งการวิจัยในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในกลุ่มของนักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย ให้มีความเข้มแข็งทางด้านเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยสอดคล้องกับ “ยุทธศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”
โดยมีเป้าหมายการวิจัย ดังนี้
- สร้างผลงานวิจัยที่สามารถนำไปขยายผล พัฒนาต่อยอด และยกระดับกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ทั้งภาคการเกษตร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ และผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้ในอนาคต
- สร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มีคุณภาพสามารถนำไปเผยแพร่ได้ในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ตลอดจนจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา และส่งต่อผลผลิตและผลลัพธ์ไปสู่การพัฒนางานวิจัยในระดับเชิงกลยุทธ์ (Research Strategic)
- สร้างการรวมกลุ่มนักวิจัยระดับปฏิบัติการ และนักวิจัยระดับวิชาการ ให้สามารถบูรณาการงานวิจัยร่วมกัน เพื่อผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้พื้นฐานเชิงลึกสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในพื้นที่โดยรอบของศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย
2. ลักษณะทุนวิจัยและเงื่อนไขการรับทุน แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- เป็นชุดโครงการวิจัย หรือโครงการวิจัยเดี่ยว ตามความเชี่ยวชาญของนักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย
- ต้องเป็นการเสนอขอทุนอุดหนุนวิจัยในลักษณะการบูรณาการงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย และอาจารย์และ/หรือนักวิจัยสายวิชาการ โดยมีสัดส่วนการดำเนินงานวิจัยในภาคสนามโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ของศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย มากกว่าร้อยละ 60 และได้รับความเห็นชอบจากส่วนงานต้นสังกัด
- ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี และศูนย์วิจัยและสถานีวิจัยที่เป็นหน่วยงานกลางภายใต้ส่วนงาน ไม่มีพื้นที่ศึกษาและไม่มีพื้นที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย ไม่สามารถยื่นเสนอขอรับทุนอุดหนุนวิจัยฯ ดังกล่าวได้
- ต้องผลิตผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (Journal) ระดับนานาชาติ และหรือจดสิทธิบัตร ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ (*จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ฯ ขึ้นอยู่กับจำนวนงบประมาณที่ได้รับจัดสรร) โดยต้องแสดงให้เห็นถึงผลผลิตและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง โดยต้องระบุหัวหน้าโครงการวิจัยเป็น First Author หรือ Corresponding Author แบ่งออกเป็น
แผนงานวิจัยสาขาเกษตรศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งเน้นเป้าหมายเพื่อการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ (Journal) ระดับนานาชาติที่ปรากฎในฐานข้อมูลสากล (ISI หรือ SCOPUS) และได้รับการจัดอันดับวารสารใน JCR (Journal Citation Report) หรือ SJR (SCImago Journal Rank) และ/หรือจดสิทธิบัตร/ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ
แผนงานวิจัยสาขาสังคมและพฤติกรรมศาสตร์ มุ่งเน้นเป้าหมายเพื่อการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ (Journal) ระดับนานาชาติที่ปรากฎในฐานข้อมูลสากล (ISI หรือ SCOPUS) หรือวารสารวิชาการระดับชาติที่ปรากฎในฐานข้อมูล Thai-Journal Citation Index (TCI กลุ่ม 1) และ/หรือจดสิทธิบัตร/ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ
หมายเหตุ: *จำนวนผลงานวิจัยตีพิมพ์ระดับชาติ/นานาชาติ 500,000 บาท : 1 เรื่อง และ/หรือจดสิทธิบัตร/ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ (อนุสิทธิบัตร 2 เรื่อง : 500,000 บาท) - เป็นชุดโครงการวิจัย หรือโครงการวิจัยเดี่ยว ที่ต้องระบุเป้าหมายผลผลิตและผลลัพธ์ที่เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่ชัดเจนของศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย และระบุกลุ่มเป้าหมายในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจน เช่น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ ประชาชนทั่วไป ฯลฯ และสามารถยกระดับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม
- ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย เสนอขอรับทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม ได้เพียง 1 ชุดโครงการวิจัย หรือโครงการวิจัยเดี่ยว
- ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัยที่ได้รับสนับสนุนทุนอุดหนุนวิจัยเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และยังไม่ปิดโครงการจะไม่สามารถยื่นเสนอขอทุนอุดหนุนวิจัยในประเภทนี้ได้ ยกเว้นหากมีความก้าวหน้าของผลผลิตนำส่งให้ สวพ.มก. แล้วมากกว่าร้อยละ 60 สามารถยื่นเสนอขอรับทุนอุดหนุนวิจัยต่อยอดได้
3. ระยะเวลาการดำเนินงานวิจัย และงบประมาณ
ระยะเวลาการดำเนินงานวิจัย ไม่เกิน 2 ปี ทุนวิจัยรวมสองปีเสนอขอได้ไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยเป็นงบดำเนินการวิจัย ประกอบด้วย หมวดค่าวัสดุ/ใช้สอย ค่าอำนวยการโครงการวิจัย (ร้อยละ 10 ของงบที่ได้รับจัดสรร) ไม่มีค่าตอบแทนนักวิจัย และไม่มีหมวดค่าครุภัณฑ์ฯ การตั้งเสนอค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามคู่มือการบริหารจัดการงานวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
4. การจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัย
จัดทำข้อเสนอการวิจัย ฉบับสมบูรณ์ (Full Proposal) แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
- ข้อเสนอแผนงานวิจัยหรือชุดโครงการวิจัย ประกอบด้วย โครงการวิจัยย่อย อย่างน้อย 2 โครงการ
- ข้อเสนอโครงการวิจัยเดี่ยว (มีผลผลิตและผลลัพธ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ขยายผล และต่อยอดได้)
โดยใช้ “แบบฟอร์มข้อเสนอชุดโครงการวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Full Proposal) / ข้อเสนอโครงการวิจัยย่อย / โครงการวิจัยเดี่ยว” นำส่ง จำนวน 5 ชุด และบันทึกไฟล์ข้อเสนอโครงการวิจัยลงใน handy drive จำนวน 1 อัน พร้อมทั้งแนบแบบบันทึกนำส่งข้อเสนอการวิจัย จำนวน 1 ชุด นำเสนอไปยังหัวหน้าส่วนงานต้นสังกัดตามลำดับเพื่อพิจารณากลั่นกรองเบื้องต้น และนำส่งสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. ภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2566
Download เอกสารที่เกี่ยวข้อง
- ประกาศสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรม ภายใต้ศูนย์วิจัยและสถานีวิจัย ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
- แบบฟอร์มข้อเสนอแผนงานวิจัยหรือชุดโครงการวิจัย (Full Proposal)
- แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการวิจัยย่อย (Full Proposal)
- แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการวิจัยเดี่ยว (Full Proposal)
- แบบบันทึกนำส่งข้อเสนอการวิจัย – ศูนย์วิจัย-สถานีวิจัย
- คู่มือการบริหารจัดการงานวิจัยทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์