ความท้าทายของชาวประมงพื้นบ้านต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

ภาพที่ 1 เรือประมงพื้นบ้าน

ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สภาพทรัพยากรเสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านการประมง และปัญหาอื่นๆ ที่เข้ามากระทบต่อการทำประมงและการดำรงชีพ แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายเกี่ยวกับประมงพื้นบ้านเพื่อส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการดูแลทรัพยากรประมงมากขึ้น เสริมความมั่งคั่งในด้านการเพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน แต่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดีมากนัก การศึกษาแนวทางการพัฒนาและการปรับตัวของชาวประมงพื้นบ้านของไทยจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ของแผนงานคนไทย 4.0 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยกุลภา กุลดิลก และคณะ ได้ศึกษาศักยภาพการดำรงชีพและการปรับตัวของชาวประมงพื้นบ้านจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้นำกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน หัวหน้ากลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ชายทะเล/ประธานสมาพันธ์ ชาวประมงพื้นบ้าน และหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เพรชบุรี สุราษฎร์ธานี สงขลา และตรัง จำนวนตัวอย่าง 77 ราย

ผลการศึกษา พบว่า ทรัพยากรประมงบริเวณชายฝั่งทะเลมีความเสื่อมโทรมลงตลอดระยะเวลา 21 ปี แม้ว่าจะมีการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในหลายรูปแบบในเชิงอนุรักษ์ แต่ยังพบว่าทรัพยากรประมงยังไม่ฟื้นฟูกลับมาเหมือนอดีต ในส่วนของแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์ทะเลในภาพรวมมีความอุดมสมบูรณ์เพียงร้อยละ 50 ไม่ว่าจะเป็นแนวประการัง หรือหญ้าทะเล มีเพียงป่าชายเลนมีแนวโน้มที่มีสภาพสมบูรณ์มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบสภาพสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ คุณภาพน้ำทะเล การเกิดน้ำมันรั่ว ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีจากการสะพรั่งของแพลงตอน

ขยะในทะเลยังพบมากขึ้นในปัจจุบัน สภาพทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง ศักยภาพของการดำรงชีพสามารถวัดได้จากความเพียงพอของทุนด้านกายภาพ ด้านการเงิน ด้านมนุษย์ ด้านสังคม และด้านทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านมีความจำกัดในด้านความเพียงพอของทุนการเงิน โดยมีการออมน้อย ระดับรายได้ในการทำประมงต่ำ และขาดแหล่งการกู้ยืม เช่น กรณีศึกษาในพื้นที่บ้านปากดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับรายได้ในระดับที่ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพมากนัก เมื่อสอบถามถึงการออม ชาวประมงกลุ่มตัวอย่างในทุกพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมสำหรับวัยเกษียณ ทำอาชีพการประมงและมีรายได้สำหรับเพียงพอกับค่าใช้จ่ายเท่านั้น ในด้านความเพียงพอของทุนทรัพยากรธรรมชาติ พบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของปริมาณสัตว์น้ำลดลง สิทธิในการเข้าถึงการทำประมงและแหล่งทรัพยากรน้ำสำหรับการทำการเกษตรที่ยังมีไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของชาวประมงพื้นบ้าน ในส่วนของความเพียงพอในด้านสังคม พบว่า มีการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านมากขึ้น ในบางพื้นที่มีผู้นำที่เข้มแข็ง มีการจัดทำกิจกรรมอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง แต่ยังขาดอำนาจการต่อรองในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ทำประมงในบางพื้นที่ ส่วนในความเพียงพอด้านทุนมนุษย์ พบว่า ชาวประมงมีประสบการณ์อย่างดีในอาชีพทำการประมง แต่ยังขาดความรู้ในด้านการเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ การตลาด และการปรับเปลี่ยนอาชีพที่ยังมีความต้องการอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวจะพบว่า ไม่มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำเลย เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุนส่วนสุดท้ายคือความเพียงพอของทุนด้านกายภาพ พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่มีความเพียงพอในระบบสาธารณูปโภค และสาธารณสุข ยกเว้นพื้นที่เกาะที่มีความขาดแคลนน้ำจืด เช่น เกาะลิบง ในจังหวัดตรัง

ภาพที่ 2 ความเพียงพอในทุนทั้ง 5 ด้าน
ของตัวอย่างชาวประมงพื้นบ้าน
ภาพที่ 3 การทำประมงพื้นบ้านและการดำรงชีพของชาวประมง

สภาพแวดล้อมที่ชาวประมงพื้นบ้านเผชิญในปัจจุบัน และคาดว่าจะยังเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต ได้แก่ ต้นทุนการทำประมงที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิที่ลดลง ผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันที่ส่งผลต่อการวางแผนออกทำประมง ผลกระทบจากพื้นที่ทำการประมงเสื่อมโทรมส่งผลต่อปริมาณสัตว์น้ำที่ลดน้อยลง และผลกระทบจากการทำประมงทำลายล้างส่งผลต่อแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกทำลาย ผลกระทบดังกล่าวนั้นชาวประมงพื้นบ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถปรับตัวต่อปัญหาเหล่านี้มากนัก การปรับตัวมักเกิดขึ้นกับชาวประมงพื้นบ้านที่มีความเพียงพอของทุนด้านต่างๆ รูปแบบของการปรับตัวของชาวประมงพื้นบ้าน ได้แก่ การปรับแผนการออกเรือเพื่อประหยัดต้นทุน การติดตามพยากรณ์จากแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ การนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้ในการทำประมง เช่น ในจังหวัดเพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และตรัง การปรับเปลี่ยนอาชีพในหลายๆ อาชีพ การร่วมกันสร้างกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ การเข้าเจรจาให้หยุดหรือลดการทำประมงจากการประมงทำลายล้าง เป็นต้น ซึ่งการปรับตัวทั้งหมดนี้มีเป้าหมายที่จะรักษาระดับรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ยังพบว่าชาวประมงพื้นบ้านต้องเผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น การขอใบอนุญาตในการทำประมงพื้นบ้านที่มีข้อกำหนดในหลายด้าน เช่น การจดบันทึกการทำประมง การห้ามทำประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง การกำหนดขนาดตาอวนและความยาว เป็นต้น ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีการประชาสัมพันธ์อย่างเร่งด่วนและเชิงรุกก็ตามแต่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงมีการปฏิบัติโดยขาดความเข้าใจ

ภาพที่ 4 การทำประมงพื้นบ้านและการดำรงชีพของชาวประมง
ภาพที่ 5 การทำซั้งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน
ภาพที่ 6 การทำซั้งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน

อนาคตชาวประมงพื้นบ้านจะเป็นอย่างไร คงต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาศักยภาพของชาวประมงพื้นบ้านด้วยกันเองเป็นหลัก การขาดความเพียงพอของทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทุนด้านการเงินและทรัพยากรธรรมชาติอาจส่งผลต่อการปรับตัวของชาวประมงเมื่อสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีความเข้มแข็งหรือเปราะบางในการดำรงชีพ ไม่สามารถมีเงินทุนเพียงพอในการพัฒนาความรู้ ทักษะ เทคโนโลยี และการรวมกลุ่ม ที่เป็นเครื่องมือในการปรับตัวที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งเพื่อให้สมาชิกสามารถเข้าถึงทุนด้านต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ จะนำพาความพร้อมที่จะฝ่าฟันและปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในทุกด้าน แต่อย่างไรก็ตาม ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาถือเป็นภาคส่วนที่เปรียบเสมือนแรงผลักและแรงสนับสนุนของความเข้มแข็งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ไม่อาจขาดได้เช่นกัน

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
กุลภา กุลดิลก อัจฉรา ปทุมนากุล ณัฐพล พจนาประเสริฐ รวิสสาข์ สุชาโต และณัฎฐิกาฑ์ เหมภัทรสุวรรณ
คณะเศรษฐศาสตร์และคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-mail: kulapa.k@ku.ac.th

เรียบเรียงโดย
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th