สถานีตรวจอากาศ

สถานีตรวจอากาศ เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT มาเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้สามารถเชื่อมโยง รับส่งข้อมูล สั่งการ เพื่อควบคุมอุปกรณ์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งการเชื่อมโยงนั้น จะสามารถเก็บและรวบรวมข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ โดยสถานีตรวจอากาศจะประกอบไปด้วยชุดเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน ความเข้มแสง PM 2.5 ทิศทางลม  และความเร็วลม โดยเซ็นเซอร์จะตรวจวัดเป็นค่าแบบเรียลไทม์ และข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลผลออกมาเป็นค่าต่างๆ แสดงให้เห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ รายชั่วโมง รายวัน รายเดือน และแสดงค่าเฉลี่ยของแต่ละพารามิเตอร์ ซึ่งสามารถดาวน์โหลดข้อมูลย้อนหลังได้ ซึ่งสถานีตรวจอากาศนี้ คณะเกษตรได้ติดตั้งที่ศูนย์  สถานีวิจัยของคณะเกษตร ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ สถานีวิจัยดอยปุย สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ สถานีวิจัยลพบุรี สถานีวิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกร (เพนียด) สถานีวิจัยทับกวาง สถานีวิจัยปากช่อง สถานีวิจัยเขาหินซ้อน ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และ ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร และมีภาคเอกชนหลายรายสนใจนำไปติดตั้งเพื่อการเก็บข้อมูลและใช้สำหรับการวางแผนการผลิตพืชหรือสัตว์

สถานีตรวจอากาศมีความเกี่ยวข้องในส่วนของเศรษฐกิจชีวภาพ คือ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้ข้อมูลที่รวบรวมได้จากสถานีตรวจอากาศช่วยตัดสินใจ บริหารจัดการการเพาะปลูกในพื้นที่ตนเองได้ นำไปสู่การทำการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) เช่น ใช้ในการคำนวณสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคและแมลง ทำให้เกษตกรสามารถฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง หรือโรคก่อนเกิดการระบาดได้ทันท่วงที หรือใช้ข้อมูลประเมินความเสี่ยง หรือสาเหตุการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลผลิตได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีระบบคลาวด์ที่จัดเก็บและประมวลผลข้อมูลออนไลน์ที่สามารถควบคุมและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา โดย IoT จะเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็นระเบียบและวิเคราะห์ผลอย่างถูกต้องแม่นยำ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ช่วยลดต้นทุน และสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ และสามารถแข่งขันในภาคเกษตรเชิงธุรกิจได้  อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน เพราะตัวสถานีตรวจอากาศได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังจากแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

 

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นางสาวภรณิภา โพธิ์ศิริ, รองศาสตราจารย์ธานี ศรีวงศ์ชัย, นายอนุสรณ์ เชื้อสามารถ
ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
นางสาวภรณิภา โพธิ์ศิริ

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6