โรงเรือน FOA Smart Greenhouse
ปัจจุบันประชาชนหันมาบริโภคพืชผักที่สะอาดและปลอดภัยมากขึ้น จึงทำให้การปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ได้รับความนิยมปลูกในเชิงพาณิชย์มากขึ้น คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีแนวคิดการทำโรงเรือน FOA Smart Greenhouse เป็นโรงเรือนอัฉริยะต้นแบบสำหรับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินแบบครบวงจร ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเทคโนโลยีต้นแบบ และพัฒนาหลักสูตรให้รองรับการฝึกอบรม เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรที่เหมาะสมเพื่อคนเมืองหรือผู้ที่สนใจ มีการให้บริการข้อมูลวิชาการ และส่วนของการฝึกปฏิบัติในโรงเรือน
โดยโรงเรือน FOA Smart Greenhouse ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเยี่ยมชมเพื่อนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ไปปรับใช้และเป็นแนวทางกับระบบของตนเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลและเป็นการยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร จึงได้วางแผนการผลิตผักไฮโดรโพนิกส์ภายใต้แนวคิด โมเดลเศรษฐกิจ บีซีจี ได้ดังนี้
B = เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) โดยนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งด้านทรัพยากรชีวภาพ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่น การปลูกพืชที่หลากหลายชนิด หลากหลายรูปแบบในโรงเรือน โดยมุ่งเน้นให้มีความหลากหลายของผลผลิตและความต่อเนื่องของผลิตผล มีการใช้ระบบจัดการฟาร์มในรูปแบบของสมาร์ทฟาร์ม และใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในการควบคุมปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพของผลผลิต เป็นต้น
C = เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy): การนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด มุ่งเน้นไปที่ Zero Waste ในทุกกระบวนการผลิต เช่น ปกติแล้วในกระบวนการผลิตผักไฮโดรโพนิกส์ จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสารละลายธาตุอาหารเป็นประจำทุกๆ สัปดาห์ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าที่สุด ก็อาจนำสารละลายธาตุอาหารที่ต้องเปลี่ยนถ่ายนั้น มาใช้รดต้นไม้
ชนิดอื่นๆ ที่ปลูกไว้นอกโรงเรือน แทนการปล่อยทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือ การนำเศษพืชผักที่เหลือจากการตัดแต่ง มาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับใช้เองเพื่อลดต้นทุน หรือ เพื่อจำหน่ายเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า เป็นต้น
G = เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งแก้ไขปัญหามลพิษ เพื่อลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต และเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ เพื่อควบคุมและกำจัดศัตรูพืชที่ปลูก เช่น การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า น้ำหมักสะเดาหรือน้ำส้มควันไม้ ช่วยไล่แมลงไม่ให้เข้ามาทำลายผลผลิต และมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยแผงโซล่าเซลล์แล้วนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาปั๊มน้ำเพื่อรดต้นไม้ที่ปลูกตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดผ่านแอปพลิเคชันได้
สามารถรับชมคลิป vdo ได้ที่ https://youtu.be/vuYUrbYmv2I
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
นายนฤพนธ์ น้อยประสาร, รองศาสตราจารย์ธานี ศรีวงศ์ชัย, รองศาสตราจารย์.สุตเขตต์ นาคะเสถียร
ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.08-7445-4237
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
นายนฤพนธ์ น้อยประสาร
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6