กาวน้ำยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เป็นที่ทราบกันว่า น้ำยางธรรมชาติถูกนำมาใช้เป็นกาวมานานแล้ว เนื่องจากสมบัติเหนียวติดแน่นของน้ำยางธรรมชาตินั่นเอง อย่างไรก็ตาม กาวน้ำยางจากธรรมชาติที่ผลิตได้มักทำมาจากน้ำยางข้น 60% เพื่อทำให้กาวแห้งได้เร็วขึ้น โดยบางครั้งก็ไม่ได้เติมสารเคมีชนิดอื่นลงไป จึงทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์กาวน้ำยางที่ได้ไม่คงที่
วิธีที่สะดวกและรวดเร็วในการเพิ่มสมบัติการติดของกาวน้ำยางธรรมชาติ คือ การเติมสารช่วยเพิ่มสมบัติการติดซึ่งการเติมสารประเภทนี้ ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมจึงจะสามารถเพิ่มความเหนียวหรือเพิ่มความสามารถในการติดได้ แต่เรซินเหล่านี้จะละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ตัวทำละลายเหล่านี้มีความเป็นพิษและเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยี/ กระบวนการ(Value Preposition of Technology/ Services/ Process)
ผลิตภัณฑ์นี้จึงเป็นการผลิตกาวน้ำจากน้ำยางธรรมชาติกับเรซินลูกผสม โดยการใช้น้ำยางข้นหรือน้ำยางสดจากธรรมชาติผสมกับ เรซินตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป จากการเตรียมสารละลายเรซินลูกผสมที่ไม่มีตัวละลายอินทรีย์แต่เป็นตัวทำละลายประเภท water-based ในอัตราส่วนที่เหมาะสมซึ่งเข้ากันได้กับน้ำยางธรรมชาติ นอกจากผลิตภัณฑ์กาวน้ำยางนี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นผลิตภัณฑ์กาวน้ำยางที่มีโปรตีนต่ำ ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการแพ้โปรตีนจากกาวน้ำยางธรรมชาติ จัดเป็นเทคโนโลยีสีเขียว ทั้งต่อผู้ผลิต ผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน ได้จดอนุสิทธิบัตรของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้แล้วตามเลขที่ 1403001698 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สวพ.มก.)
การประยุกต์ใช้(Potential Application)
การเตรียมผลิตภัณฑ์นี้ใช้เทคโนโลยีที่ไม่สลับซับซ้อน สามารถผลิตได้ง่าย ตั้งแต่กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน จนถึงโรงงานอุตสาหกรรม SMEs นับเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มต้นน้ำ หรือปลายน้ำ ก็สามารถผลิตกาวน้ำยางชนิดนี้ได้เป็นรายได้เสริมหรือรายได้หลักอย่างแท้จริง เพื่อประยุกต์ใช้ในการติดกันของวัสดุในอุตสาหกรรม กระเป๋าถือ รองเท้ากีฬา เครื่องหนัง งานยึดติดต่างๆ งานตกแต่ง เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับ(Customer Benefit)
- กาวมีสมบัติการติดที่ดีและคงที่สามารถใช้ในงานอุตสาหกรรมได้หลากหลายประเภท
- ไม่มีตัวทำละลายอินทรีย์ที่เป็นพิษ เช่น ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ โทลูอีน เป็นต้น
- เป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราให้มากขึ้น โดยกาวน้ำยางชนิดนี้มีส่วนผสมของน้ำยางมากถึง 80%
- เป็นการเพิ่มมูลค่าของน้ำยางพารา โดยการแปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์กาว โดยมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างต่ำ 10%
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ และ รองศาสตรจารย์ ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต
ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.09-1780-9569
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ดร.วีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6