การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชหายากและพืชถิ่นเดียวเพื่อการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์
การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชโดยการใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มจำนวนพืชหายากหรือพืชเฉพาะถิ่นซึ่งมีจำนวนประชากรในธรรมชาติน้อย ซึ่งเป็นข้อจำกัดหนึ่งในการนำพืชกลุ่มนี้มาศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น การศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และการพัฒนาเป็นไม้ประดับ ที่จำเป็นต้องใช้ตัวอย่างพืชค่อนข้างมากในการศึกษา การเพิ่มจำนวนพืชด้วยวิธีดังกล่าวจึงช่วยลดการนำพืชเหล่านั้นออกจากสภาพธรรมชาติ ประกอบกับปัจจุบันมีเทคนิคการใช้สารเคมี เช่น สารฟอกขาว ผสมลงในอาหารสังเคราะห์ที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเพื่อฆ่าเชื้อทดแทนการใช้หม้อนึ่งความดันไอซึ่งมีราคาสูง ทำให้ต้นทุนในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อลดลงอย่างมาก ช่วยให้หน่วยงานการศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสามารถนำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชไปใช้ในการอนุรักษ์พืชท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นและนำไปสู่การใช้ประโยชน์-สร้างรายได้จากฐานทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs)
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชถิ่นเดียวและพืชหายากสามารถใช้ได้กับทั้งพืชดอกและพืชกลุ่มเทอริโดไฟต์ (เฟินและไลโคไฟต์) โดยใช้ชิ้นส่วนพืช เช่น หัวใต้ดิน ข้อ-ปล้อง แผ่นใบ-ก้านใบ และ สปอร์ โดยการเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์กึ่งแข็งสูตร Murashige & Skooge (1962) ที่เติมน้ำตาล 2-3% KelcoGel 2-2.5 กรัม/ลิตร ปรับค่า pH ที่ 5.7 และเติมสารควบคุมการเจริญเติบโตพืชกลุ่มออกซินและไซโตไคนินที่ความเข้มข้นต่าง ๆ แล้วแต่ชนิดพืช นำไปต้มจนเดือด จากนั้นเติมสารฟอกขาวทางการค้า (ไฮเตอร์â) 0.5-1 มิลลิลิตร/ลิตร เมื่ออาหารอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส และนำไปเทลงในภาชนะพลาสติก และนำชิ้นส่วนพืชที่ฟอกฆ่าเชื้อผิวเรียบร้อยแล้วลงเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์ที่เตรียมไว้ เมื่อได้ต้นพืชที่มีรากแล้วสามารถนำออกปลูกเพื่อศึกษาศักยภาพในการใช้เป็นไม้ประดับ การปรับปรุงพันธุ์พืช หรือนำไปใช้ในการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้ โดยตัวอย่าง พืชที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ได้แก่
1.พืชกลุ่มเทอริโดไฟต์: เฟินก้านดำทองแถม (Adiantum thongthamii) เฟินก้านดำคลองพนม (A. phanomensis) เฟินหัวใจพระราม (Hymenasplenium cardiophyllum) เฟินข้าหลวงเดลาวายี (As. delavayi) กระเทียมน้ำ (Isoestes spp.)
2.พืชดอก: หญ้าพันเกลียว (Ceropegia thailandica) เพชรไตรบุญ (C. tribounii) บุกองค์สกุล (Amorphophallus ongsakulii )
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผศ.ทัศไนย จารุวัฒนพันธ์
ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.08-6393-5688
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ผศ.ทัศไนย จารุวัฒนพันธ์
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6