ต้นแบบพลาสติกชีวภาพชนิดโคพอลิเมอร์จากสไปรูไลน่าและแกลบ
พลาสติกที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นจากกระบวนการทางเคมีซึ่งมีความแข็งแรงทนทานต่อการสึกกร่อนและยากต่อการย่อยสลายตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้ การเผาพลาสติกเคมียังก่อให้เกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งผลต่อภาวะเรือนกระจก (Greenhouse gas) ตามมา ด้วยสาเหตุดังกล่าว จึงมีการคิดค้นและพัฒนาพลาสติกทางเลือกที่มีคุณสมบัติที่ย่อยสลายได้ง่ายด้วยจุลินทรีย์ (Biodegradable) มาทดแทนพลาสติกเคมีดังกล่าว การผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) จึงเป็นทางเลือกที่นักวิจัยทั่วโลกให้ความสนใจในปัจจุบัน พลาสติกชีวภาพสามารถผลิตขึ้นจากพืช สาหร่ายหรือไซยาโนแบคทีเรีย งานวิจัยนี้ ผู้วิจัยสังเคราะห์พลาสติกชีวภาพชนิดโคพอลิเมอร์จากพอลิไฮดรอกซีบิวทีเรตหรือพีเอชบี (Polyhydroxybutyrate or PHB) ซึ่งเป็นกรดไขมันภายในเซลล์ของสไปรูลิน่า (Spirulina, Arthrospira platensis) ซึ่งมีคุณสมบัติซึ่งสามารถย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ในดิน และเซลลูโลสซึ่งสกัดได้จากแกลบ (เปลือกข้าว, rice husk) ทำให้ได้โคพอลิเมอร์ (Copolymer) ของพลาสติกชีวภาพ ที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น
ตามนโยบายด้านพลังงานจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ของประเทศไทยได้กล่าวถึงการใช้พลาสติกชีวภาพในหัวข้อ “การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมพัฒนาต่อยอด ความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพปัจจุบันเพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง” โดยต้องการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิด ทางด้านอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชีวภาพและพลาสติกชีวภาพได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
รศ.ดร.วุฒินันท์ รักษาจิตร์ นายอุเทน พรมอริยะ น.ส.ฉันท์ชนก ดวงศรี นายคมสัน สัจจะสถาพร
สาขาวิชาเทคโนโลยีสุขภาพสัตว์ ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์
คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.02-942-8200 ต่อ 616015
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
รศ.ดร.วุฒินันท์ รักษาจิตร์
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6