ถั่วเหลืองพันธุ์เกษตรศาสตร์ ๘๐
ถั่วเหลืองพันธุ์เกษตรศาสตร์ 80 เป็นสายพันธุ์แท้ (pure line) ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างถั่วเหลืองสายพันธุ์ KUSL20004 ที่มีความทนทานต่อโรคใบจุดนูน (แบคทีเรียพัสตูล) และโรคราน้ำค้าง กับถั่วเหลืองพันธุ์สุโขทัย 1 ที่ต้านทานต่อโรคใบจุดนูนและไวรัสใบแดง ถั่วเหลืองพันธุ์เกษตรศาสตร์ 80 เป็นพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาโดยความร่วมมือของภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ภายใต้โครงการปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองและถั่วเขียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะวิจัยฯ ได้เริ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วเหลืองเพื่อให้มีผลผลิตสูง ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 มีการผสมและคัดเลือกในชั่วที่ 2-4 โดยวิธีการคัดเลือกแบบบันทึกประวัติ (pedigree method) เปรียบเทียบกับวิธีคัดเลือกรวม (bulk method) จนได้สายพันธุ์ที่ดี (promising lines) และประเมินผลผลิตเบื้องต้น (preliminary yield trial) ของสายพันธุ์ที่ได้จากการผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ (F5) ภายใต้โครงการการประเมินศักยภาพของถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 2 สถานที่ ในพื้นที่แปลงทดลองโครงการพืชโปรตีนสูง วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และสถานีวิจัยลพบุรี สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จังหวัดลพบุรี แต่ละสถานที่ปลูกทดสอบเป็นเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2551-54) ปีละ 2 ฤดูปลูก คือ ฤดูแล้ง (ธันวาคม – มีนาคม) และปลายฝน (กรกฎาคม – พฤศจิกายน) รวม 16 สภาพแวดล้อม และในปี พ.ศ. 2554 นอกจากนั้นประเมินผลผลิตระดับท้องถิ่น (regional yield trial) และทดสอบในไร่นาเกษตรกร (on-farm yield trial) พื้นที่ปลูกถั่วเหลืองในจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ จำนวน 8 แปลง ได้ถั่วเหลืองสายพันธุ์ดีเด่น KUSL3802-1 เป็นสายพันธุ์ดีเด่นที่มีความสามารถในการปรับตัวดี มีเสถียรภาพและศักยภาพการให้ผลผลิตสูง รวมทั้งมีพัฒนาการต่างๆ ที่ดี โดยให้ผลผลิตเฉลี่ยสูงกว่าถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 และนครสวรรค์ 1 และปรับตัวได้ดีในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย ลักษณะเด่นของเกษตรศาสตร์ 64 ได้แก่ ให้ผลผลิตสูง การเจริญเติบโตแบบไม่ทอดยอด (determinate) สีใบเขียวเข้ม ทรงต้นแบบพุ่มตั้ง ฝักไม่แตกในระยะสุกแก่ ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย ผลผลิตไม่ตกหล่น อายุเก็บเกี่ยวปานกลาง 100 – 110 วัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.0-2579-3130
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6