เรือท่องเที่ยวไฟฟ้า

เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าได้ดำเนินการการออกแบบเรืออาศัยการจำลองทางพลศาสตร์ของไหล (Computational Fluid Dynamics, CFD) ช่วยในการออกแบบรูปทรงตัวเรือประหยัดพลังงาน เรือมีรูปทรงที่สามารถช่วยประหยัดพลังงานและการทรงตัวดี เรือมีขนาดความยาว 12.9 เมตร ระบบขับเคลื่อนใช้มอเตอร์ชนิดอินดักชันขนาด 15 kW จำนวน 2 ชุด ทำความเร็วสูงสุดได้ 13.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถใช้งานได้ 3 ชั่วโมง และระยะทาง 30 กิโลเมตร ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ระบบสะสมพลังงานใช้แบตเตอรี่ลิเธียมชนิด Lithium Titanate Oxide (LTO) มีอายุการใช้งานมากกว่า 25,000 รอบ และมี BMS ควบคุมการทำงาน ระบบสะสมพลังงานมีแรงดันไฟฟ้า 360 VDC และขนาดความจุแบตเตอรี่ 46 kWh การชาร์จไฟฟ้าใช้ระบบ DC Quick charge ขนาด 18 kW ใช้เวลาการชาร์จ 2.5 ชั่วโมง

ภายในห้องโดยสารติดตั้งระบบปรับอากาศที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ โดยอาศัยโซลาร์เซลล์ขนาด 3 kW ชาร์จไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ลิเธียมชนิด LTO แรงดันไฟฟ้า 48 VDC และมีขนาดกำลังไฟฟ้า 8 kWh การใช้เรือท่องเที่ยวไฟฟ้าสามารถช่วยประหยัดพลังงานลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ประมาณ 6,000 ลิตร/ลำ/ปี และช่วยลดการปล่อย CO2 เข้าสู่บรรยากาศประมาณ 16.2 ตัน/ลำ/ปี

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

กฟผ. สามารถนำเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าใช้ประโยชน์จากการให้บริการรอบเกาะหมู่ป่า ระยะทาง 10 กิโลเมตร 2 – 3 เที่ยวต่อวัน จะสามารถสร้างรายได้ที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยปีละ 2,304,000 บาท เมื่อหักต้นทุนการดำเนินงานต่อปีแล้ว จะทำให้สามารถคืนทุนได้ใน 5 ปี สร้างผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) เท่ากับร้อยละ 26 สำหรับอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์คำนวณจากประโยชน์ทางอ้อมจากการลดการใช้น้ำมันและการลดคาร์บอน ทำให้อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 28 โดยตลอดระยะเวลา 20 ปี จะสร้างมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ได้เท่ากับ 4,193,127 บาท มีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (BCR) เท่ากับ 1.84 เท่า ซึ่งหมายถึงเงินลงทุน 1 บาท สร้างผลตอบแทนกลับคืนมา 1.84 บาท ดังนั้นเมื่อพิจารณาเกณฑ์ในการประเมินความคุ้มค่าของโครงการลงทุนพบว่า โครงการมีความคุ้มค่าที่จะลงทุน

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น และคณะ
ภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
โทร. 038-354-850 E-mail: yodchai.ti@ku.th

เรียบเรียงโดย
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th