การคัดกรองเบาหวานจอตาโดยปัญญาประดิษฐ์
โรคเบาหวานจอตา (Diabetic retinopathy หรือ DR) มีสาเหตุมาจาก การที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด เดิมการคัดกรองเบาหวานจอตาทำโดยการขยายม่านตาตรวจจอตาโดยจักษุแพทย์เท่านั้น จากปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้องใช้เวลานานในการตรวจ จึงมีการออกแบบระบบการคัดกรองเบาหวานจอตาโดยการถ่ายภาพจอประสาทตาแล้วเก็บรวบรวมให้จักษุแพทย์แปลผลภาพถ่ายจอตาย้อนหลัง เพื่อประเมินการส่งต่อให้จักษุแพทย์อีกครั้งในกรณีที่ผลมีความผิดปกติ
การคัดกรองเบาหวานจอตาโดยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) ซึ่งมีความแม่นยำในการวิเคราะห์ค่อนข้างสูง โดยสามารถวิเคราะห์ได้ว่าภาพใดมีความผิดปกติของจอตาจากเบาหวาน และอยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจติดตามโดยจักษุแพทย์หรือไม่ โมเดลที่ผ่านการพัฒนามาแล้วจะทำการคัดแยกภาวะเบาหวานจอตาจากภาพถ่ายจอตาที่ถูกป้อนเข้ามาให้โปรแกรม และให้ผลเป็นระดับความเร่งด่วนในการส่งต่อ วิเคราะห์จากค่าความน่าจะเป็นของการพบรอยโรค จะแสดงถึงความเร่งด่วนในการต้องส่งพบแพทย์ตามไปด้วย
ลักษณะเด่นของโปรแกรมคัดกรองเบาหวานจอตาด้วย AI
- มีความแม่นยำสูงกว่าการแปลผลภาพด้วยผู้แปลผลที่ได้รับการฝึกฝน
- ได้รับการจดลิขสิทธิ์โปรแกรมแล้วในวันที่ 16 พ.ย.63 เป็นลิขสิทธิ์ร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้สามารถพัฒนาโปรมแกรมเองได้อย่างต่อเนื่อง
- การคัดกรองผู้ป่วยทำได้ได้เร็วขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรจักษุแพทย์ได้ถึง 60%
- ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขยายม่านตา โดยใช้โปรแกรมลดจำนวนเคสที่ต้องขยายม่านตาลง
- เพิ่มการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนทรัพยากร


ผลกระทบจากงานวิจัย
ด้านเศรษฐกิจ สามารถลดต้นทุนการจ้างงาน ลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการได้มากกว่าในระยะยาว
ด้านสังคม การคัดกรองผู้ป่วยทำได้ได้เร็วขึ้น ลดการใช้ทรัพยากรจักษุแพทย์ได้ถึง 60% ในส่วนของลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขยายม่านตา หรือการเกิดต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน โดยการใช้โปรแกรมลดจำนวนเคสที่ต้องขยายม่านตาลง นอกจากนี้ยังเพิ่มการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนทรัพยากร พบความผิดปกติของโรคได้รวดเร็วขึ้น ลดโอกาสเกิดภาวะรุนแรง ที่การรักษาทำได้ค่อนข้างยาก
ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้โปรแกรมที่พัฒนาขึ้น ทำให้อัตราการคัดกรองทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้ลดเวลาที่ผู้ป่วยหรือญาติต้องใช้ที่โรงพยาบาล (จากการตรวจตาปกติใช้เวลา 40 นาทีต่อคน เหลือเพียง 25 นาทีต่อคน รวมทั้งการตรวจด้วยโปรแกรมอัตโนมัติสามารถแปลผลภาพจำนวนมากๆพร้อมกันได้) ลดความหนาแน่นของผู้ป่วยที่มาใช้บริการของโรงพยาบาล ซึ่งการลดความหนาแน่นของผู้ใช้บริการนี้ยังจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคอื่นๆ ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยที่จะต้องเดินทางมาโรงพยาบาล และเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรทงการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังถือเป็นการลดการใช้ทรัพยากรอื่นๆในระบบเช่น น้ำ ไฟฟ้า กระดาษ ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนกว่าการทำงานในรูปแบบเดิม