มะเขือเทศสีดาสายพันธุ์ KU-Pink 649 ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง

การพัฒนาสายพันธุ์มะเขือเทศต้านโรคใบหงิกเหลืองที่เกิดจากเชื้อTomato Yellow Leaf Curl Virus หรือ TYLCV มีการพัฒนากว่า 15 ปี จนปัจจุบันได้มะเขือเทศสีดาพันธุ์ KU-Pink (เคยูพิงค์) 649 ที่ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง ลักษณะของผลของ KU-Pink 649 มีสีชมพู รูปไข่ รับประทานผลสด หรือนำไปประกอบอาหาร มีรสชาติค่อนข้างเปรี้ยว นิยมนำไปทำส้มตำ เมนูยำต่างๆ

การพัฒนาพันธุ์ เริ่มจากการผสมมะเขือเทศสายพันธุ์สีดาทิพย์ 3 ซึ่งมียีนต้านทานโรคใบด่าง กับมะเขือเทศสายพันธุ์ป่า ที่มียีนต้านทานไวรัสใบหงิกเหลืองมะเขือเทศ จนได้เป็นสายพันธุ์แท้ TOMAC 647 ในปี 2556 รวมเวลาพัฒนากว่า 7 ปี

จุดเด่น

• ต้านทานไวรัสใบหงิกเหลือง
• ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต
• เป็นสายพันธุ์เปิด สามารถเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อได้

ต่อมาทีมวิจัยได้พัฒนามะเขือเทศสายพันธุ์ TOMAC 647 มาผสมกับสายพันธุ์ CLN3070F1-8-30-30-26-25-13-4-5 เป็นสายพันธุ์จาก AVRDC ซึ่งมีผลทรงกลม ขนาดใหญ่ ผลมีสีส้ม และมียีนต้านทานไวรัสใบหงิกเหลือง จนได้ลูกผสมใน รุ่น ที่ 7 ได้สายพันธุ์ที่มีความนิ่งหรือบริสุทธิ์ (pure line) โดยในทุกๆ รุ่นการผสมจะคัดเลือกต้นที่มียีนต้านทานโรคทั้งสองชนิด ร่วมกับการคัดเลือกลักษณะ อาทิ ทรงต้น ขนาดผล สี รูปร่างผล ปริมาณผลผลิต และการตอบสนองต่อสภาพปลูก เพื่อศึกษาศักยภาพในการเป็นสายพันธุ์ทางการค้าที่ดีในทุกรุ่นของการผสม

จากลูกผสมในรุ่น F6 ถือเป็นสายพันธุ์มีความบริสุทธิ์ และได้ทำการทดสอบความต้านทานในระดับโรงเรือนและแปลงปลูกทดลองพบว่าสามารถต้านทานโรคใบหงิกเหลืองได้ในระดับสูงกว่าสายพันธุ์การค้า ในปี 2563 ด้วยลักษณะผลที่มีสีชมพู เป็นลักษณะที่ต้องการของตลาดจึงเป็นที่มาของชื่อสายพันธุ์เคยูพิงค์ 649 ต้านทานโรคใบหงิกเหลือง

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ดร.อรอุบล ชมเดช และคณะ
ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 085-908-0850 E-mail: ornubol@gmail.com

เรียบเรียงโดย
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th