ชุดตู้เลี้ยงจิ้งหรีดอัตโนมัติ
การเพิ่มจำนวนขึ้นของประชากรโลกเพิ่มทำให้โลกเผชิญกับความท้าทายด้านความมั่นคงทางอาหาร องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยอมรับว่าแมลงที่รับประทานได้ คือ แหล่งอาหารอนาคตของโลกจิ้งหรีดเป็นแมลงที่รับประทานได้ที่สำคัญมีศักยภาพพัฒนาไปสู่แหล่งอาหารแห่งอนาคต เพื่อความมั่นคงทาง อาหารและเป็นแหล่งโปรตีนที่มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีวัฒนธรรมการบริโภคแมลง มีองค์ความรู้ในการผลิตและแปรรูปจิ้งหรีดในระดับสูง การเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยเป็นระบบที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก มีฟาร์มเลี้ยงมากกว่า 20,000 แห่ง จึงเป็นรากฐานและโอกาสสำคัญทางการค้าทั้งภายในและต่างประเทศที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าจิ้งหรีดของโลก แม้ว่ามีแนวโน้มความสนใจบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้นแต่ยังคงมีอุปสรรคบางประการที่ทำให้การขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในความปลอดภัยด้านอาหารและทุกขั้นตอนการผลิตมีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริง
โดยการจัดการฟาร์ม และการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีด ผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีดมีความเสี่ยงในการสะสมโลหะหนักจากวัสดุเลี้ยง การปนเปื้อนยาฆ่าแมลงจากพืชซึ่งเป็นอาหารของจิ้งหรีด การสะสมของฮีสตามีนจากวิธีเก็บรักษาจิ้งหรีดที่ไม่เหมาะสม และการมีอยู่ของสารก่อภูมิแพ้ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้มีประวัติแพ้แมลง อาหารทะเล และไรฝุ่น การสำรวจปริมาณสารข้างต้นในจิ้งหรีดจากฟาร์มต่างๆ จะเป็นข้อมูลสำคัญในกำหนดมาตรฐานการจัดการฟาร์ม เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยทางอาหาร ภาควิชากีฏวิทยา และ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แนวคิดการพัฒนาระบบการเลี้ยงจิ้งหรีด โดยดำเนินการผลิตตู้เลี้ยงจิ้งหรีดอัตโนมัติ โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ช่วยให้อาหารและน้ำอัตโนมัติตามคำสั่งทีกำหนดบนหน้าตู้ควบคุม หรือผ่านทางมือถือ
2. สามารถลดความร้อนสะสมภายในตู้เลี้ยงจิ้งหรีดได้ด้วยพัดลมระบายอากาศ โดยการกำหนดค่าอุณภูมิสูงสุดที่ยอมให้เกิดขึ้นได้
3. ลดเวลาและการใช้แรงงานคนในการเลี้ยงจิ้งหรีด
4. ใช้พื้นที่เลี้ยงจิ้งหรีดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิธีเลี้ยงแบบเดิม
การเลี้ยงระบบนี้จะช่วยให้ผู้เลี้ยงจิ้งหรีดสามารถควบคุมตู้เลี้ยงได้อย่างอัตโนมัติ และยังช่วยลดอัตราการตายของจิ้งหรีดได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของนวัตกรรมต้นแบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเลี้ยงจิ้งหรีดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อต่อยอดสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดทางด้านความปลอดภัยทางด้านอาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
ผลงานวิจัยโดย
ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช และคณะทีมวิจัย
ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร.0-2579-0588 ต่อ 1519,1520
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม
https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6