เครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวแบบลากดึงด้วยรถแทรกเตอร์

เครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวแบบลากดึงด้วยรถแทรกเตอร์ ช่วยในการเก็บผลผลิตลำเลียงทะลายมะพร้าว โดยการขนย้ายมะพร้าวจากร่องน้ำขึ้นฝั่ง และจากโรงเก็บมะพร้าวขึ้นสู่รถกระบะ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อทดแทนแรงงานคน และลดต้นทุนในการเก็บผลผลิตด้วยเครื่องจักรกลเกษตรต่างๆ ซึ่งเครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวสามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยคานลากดึง โดยนำรถแทรกเตอร์มาต่อพ่วงเข้ากับเครื่องลำเลียงฯ  และเคลื่อนย้ายไปในสวนมะพร้าวเพื่อลำเลียงมะพร้าว ทำการปรับล้อหน้าขึ้นลงให้ได้ระดับตามความต้องการ เพื่อให้เครื่องลำเลียงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำการปรับมุมเอียงสายพานลำเลียง ด้วยปั๊มไฮดรอลิคทำการปั๊มขึ้นลงเพื่อให้กระบอกสูบยกโครงสร้างสายพานลำเลียงเอียงขึ้นให้ได้ตามองศาที่ต้องการของผู้ใช้งาน จากนั้นล็อคตำแหน่งสายพานลำเลียงด้วยสลัก เพื่อให้สลักรับแรงแทนกระบอกสูบไฮดรอลิก ทำการสตาร์ทเครื่องยนต์ต้นกำลังดีเซล 5.5 แรงม้า และตึงสายพานส่งกำลังด้วยลูกเตะ จากนั้นผู้ปฏิบัติงานยกทะลายมะพร้าวขึ้นสู่เครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวเพื่อทำการลำเลียงขึ้นสู่รถบรรทุก โดยมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการนับจำนวนทะลายมะพร้าวที่ถูกลำเลียงขึ้นสู่รถบรรทุก และระบุตำแหน่งเครื่องลำเลียงฯ ในพื้นที่ผ่านทางมือถือ และผ่านทางหน้าตู้อุปกรณ์

ซึ่งจุดเด่นเครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวแบบลากดึงด้วยรถแทรกเตอร์

  1.  เครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวสามารถปรับมุมเอียงได้สูงสุด 45 องศา เพื่อลำเลียงทะลายมะพร้าวขึ้นสู่รถบรรทุกสิบล้อ
  2. เครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกด้วยคานลากดึงที่มีจุดต่อพ่วงเข้ากับท้ายรถแทรกเตอร์ สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องลำเลียงฯ ได้ง่ายภายในสวนมะพร้าว
  3. ระบบไฮดรอลิก สามารถปรับมุมเอียงของโครงสร้างส่วนบนด้วยกระบอกสูบไฮดรอลิคที่ติดตั้งกับโครงสร้างส่วนล่าง โดยการปั๊มขึ้นลงเพื่อปรับตำแหน่งของโครงสร้างส่วนกลางให้ได้มุมเอียงที่ต้องการ
  4. สายพานยางดำ มีการติดตั้งบั้งยางเฉพาะสำหรับป้องกันการลื่นไถลของวัตถุที่ถูกลำเลียง เพื่อไม่ให้ทะลายมะพร้าวที่ลำเลียงขึ้นไปไถลลื่นลงมาทับผู้ปฏิบัติงานหรือทำให้ผลผลิตเสียหาย
  5. ล้อหน้า สามารถปรับขึ้นลงได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้เครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการใช้งานภาคสนาม
  6. เครื่องต้นกำลังเป็นเครื่องยนต์ดีเซลขนาด 5.5 แรงม้า สามารถใช้งานได้ในพื้นที่เกษตรที่ไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง
  7. ระบบโซล่าเซลล์ เป็นแหล่งจ่ายไฟที่ติดตั้งระบบนับจำนวนทะลายมะพร้าวเพื่อทำการนับจำนวนทะลายมะพร้าวที่ถูกลำเลียงขึ้นสู่รถบรรทุกสิบล้อ และระบุพิกัดการใช้งานของเครื่องลำเลียงฯ ผ่านทางมือถือ

    ผลงานวิจัยโดย
    ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช และคณะทีมวิจัย
    ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    โทร.0-2579-0588 ต่อ 1519,1520

    ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
    ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช

    ✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
    🌟 แนะนำ/ติชม
    https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6