แป้งขนมบัวลอยจากมันสำปะหลัง
ขนมบัวลอยเป็นขนมไทยที่คนนิยมรับประทานมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามประเพณีบัวลอยเป็นขนมที่ทำขึ้นในงานบุญต่างๆ โดยขนมบัวลอยจะทำจากแป้งข้าวเหนียว มีน้ำตาลและกะทิเป็นส่วนผสม ทำให้บัวลอยเป็นขนมไทยทีมีลักษณะเหนียวนุ่มและมีกลิ่นหอมของกะทิ ปัจจุบันมีการเพิ่มคุณค่าทางโภชนการและสีสันให้น่ารับประทานในขนมบัวลอย โดยการผสมผักต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติและสี เช่น การผสมเผือก ฟักทอง ใบเตย อัญชัน เพื่อให้ขนมบัวลอยมีสีสันน่ารับประทานมากขึ้น แป้งขนมบัวลอยจากมันสำปะหลัง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมันสำปะหลังผง ซึ่งผงมันสำปะหลังที่ประดิษฐ์ขึ้น ได้จากการต่อยอดงานวิจัยจาก โครงการ การแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการแปรรูปมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์สู่อุตสาหกรรมอาหารให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาให้อยู่ในรูปผงแป้งกึ่งสำเร็จรูปที่นำมาผสมน้ำและปั้นเป็นขนมบัวลอยได้ โดยเนื้อสัมผัสที่ได้มีความใกล้เคียงกับขนมบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว นอกจากนี้เมื่อนำมาทำเป็นขนมบัวลอยแล้วเก็บแช่เย็นหรือเก็บแช่แข็ง แล้วนำมาอุ่นเพื่อรับประทาน ขนมบัวลอยจากมันสำปะหลังยังมีความนุ่มซึ่งแตกต่างจากขนมบัวลอยที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวที่จะมีความแข็งตัวเมื่อเก็บแช่เย็นหรือแช่แข็ง ขนมบัวลอยจากมันสำปะหลังนอกจากจะช่วยลดปัญหาเรื่องความแข็งตัวของแป้งแล้ว ยังเป็นการนำมันสำปะหลังมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถผลิตเป็นสินค้าระดับอุตสาหกรรมได้
สำหรับกระบวนการผลิตแป้งขนมบัวลอยจากมันสำปะหลัง
แป้งขนมบัวลอยจากมันสำปะหลัง มีวิธีการเตรียมที่เหมือนกับขนมบัวลอยจากแป้งข้าวเหนียว คือ ผสมน้ำ และนวดให้เข้ากัน หลังจากนั้นนำมาปั้นเป็นก้อน และต้มในน้ำเดือด และนำขนมบัวลอยที่ได้ ใส่ในน้ำกะทิ อาจเพิ่มเติมรสชาติความหอมโดยการใส่มะพร้าวอ่อน
ผลงานวิจัยโดย
ดร.พิศมัย ศรีชาเยช
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0-2942-8629
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ดร.พิศมัย ศรีชาเยช
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย