เชื้อเพลิงชีวภาพ (Black Pellet)
พลังงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นที่ยอมรับกันว่าเบื้องหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจมีพลังงานเป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติปัญหาการขาดแคลนพลังงานหลายครั้งเนื่องจากพลังงานเชิงพาณิชย์ (Fossil/Petrolium Energy) ที่ผลิตได้เองไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ เมื่อรวมผลกระทบจากปัญหาทางด้านสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้แหล่งพลังงานประเภทนี้ทำให้ภาครัฐได้หันมาสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตขึ้นได้เองภายในประเทศให้สูงขึ้น การกระตุ้นการใช้พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนสะอาด สามารถผลิตได้ในราคาที่เหมาะสม ช่วยลดผลกระทบต่อสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมจากปัญหาการใช้พลังงานจากแหล่งปิโตรเลียมที่มีแต่จะหมดลงทุกวัน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้มีการหันมาใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในท้องถิ่น ทั้งเพื่อใช้กันเองภายในแหล่งชุมชนหรือเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐสามารถให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง การนำชีวมวลและไม้มาใช้ในการผลิตพลังงานก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะการนำไม้โตเร็ว (Fast-growing trees)
แต่อย่างไรก็ตามการนำชีวมวลมาใช้ประโยชน์ในแง่พลังงานก็ยังมีปัญหาบางประการที่ต้องการการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเนื่องจากชีวมวลเองมีข้อด้อยในเรื่องของ พลังงานต่อหน่วยนำหนักไม่สูง (Low Energy Density) มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอและความหนาแน่นต่ำ (No uniformity and Low density) รวมถึงมีปริมาณไม่สม่ำเสมอตลอดทั้งปีและไม่สามารถจัดเก็บไว้ได้นาน (Up to Seasoning and Storage Conditions) จากปัญหาเหล่านี้ ทำให้ดร.พงษ์ศักดิ์ เฮงนิรันดร์ และคณะผู้วิจัยสนใจ ที่จะผลิต Black Pellet จากการนำชีวมวลมาผ่านกระบวนการ Torrefaction ร่วมกับกระบวนการ Pelletizing ทำให้ได้เชื้อเพลิงชีวภาพอีกประเภทที่มีคุณสมบัติทางด้านเชื้อเพลิงดีกว่าไม้พลังงาน ชิ้นไม้สับ (Wood Chip) และเชื้อเพลิงอัดเม็ด (Wood Pellet)
กระบวนการผลิตและคุณสมบัติของ Black Pellet
กระบวนการผลิต Black Pellet ในงานวิจัยนี้จะเริ่มจากการนำเศษไม้ยางพารามาเข้าเครื่องสับ (Chipper) ได้ชิ้นไม้สับออกมาแล้วนำไปผ่านเครื่องอบ (Dryer) เพื่อลดความชื้นของชิ้นไม้สับลง จากนั้นชิ้นไม้สับจะถูกส่งเข้าเครื่อง Torrefaction Reactor ที่ทางคณะผู้วิจัยพัฒนาขึ้น จะได้ชิ้นไม้สับที่มีคุณสมบัติกึ่งไม้กึ่งถ่านออกมา จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการเดียวกับการผลิต Wood Pellet/White Pellet คือ ผ่านการบดขนาด ควบคุมความชื้น แล้วอัดให้เป็นเม็ด ทิ้งไว้ให้เย็นตัวลง แล้วบรรจุเพื่อส่งขายต่อไป
Black Pellet ที่ได้มีค่าความร้อน Energy Density ที่สูงกว่า White Pellet ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งลง มีปริมาณสารระเหยที่น้อยกว่าทำให้ปลอดภัยในการใช้งานมากกว่า จัดเก็บได้ยาวนานโดยไม่ต้องกังวลต่อการเข้าทำลายของศัตรูเนื้อไม้และไม่ต้องปัญหาความชื้น
ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
ดร.พงษ์ศักดิ์ เฮงนิรันดร์
ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 0-2942-8109
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ดร.พงษ์ศักดิ์ เฮงนิรันดร์
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6