ผีเสื้อบาลา และ ผีเสื้อจันทราปัตย์ ผีเสื้อกลางคืนชนิดใหม่ของโลกในสกุล Apsidophora

ผีเสื้อกลางคืนชนิดใหม่ 2 ชนิดนี้ คือ “ผีเสื้อบาลา” (Apsidophora bala) และ “ผีเสื้อจันทราปัตย์” (Apsidophora chandrapatyae) เป็นผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในวงศ์ Tortricidae (วงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ) มีลักษณะเด่น คือ ปีกคู่หน้ามีแถบโค้งขนาดใหญ่อยู่บริเวณปลายปีก มีการรายงานครั้งแรกโดย Alexey Diakonoff ในปี 1973 เพียงชนิดเดียว

จนกระทั้งในปี 2563 รศ.ดร. นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว และ นางสาวโสภิตา หมวดทรัพย์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานการค้นพบผีเสื้อหนอนม้วนใบชนิด A. bala และ A. chandrapatyae 2 ชนิดใหม่ โดยได้รับการ ตีพิมพ์ ในวารสาร Zootaxa 4877 (3): 401–412 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563

ผีเสื้อบาลา (A. bala) ถูกค้นพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ. นราธิวาสและอุทยานแห่งชาติเขานัน จ. นครศรีธรรมราช ปีกแผ่กว้าง 6.8–8.4 มม. สำหรับชื่อชนิด “bala” มาจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าบาลา (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา) ชื่อสถานที่พบของตัวอย่างต้นแบบ (holotype)

A. bala และ A. chandrapatyae มีลักษณะ และลวดลายบนปีกคล้ายคลึงกันมาก แตกต่างกันเพียงความกว้างของแถบโค้งที่ปลายปีก ลักษณะของเกล็ดปีกบนปีกคู่หลัง และมีลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ผีเสื้อจันทราปัตย์ (A. chandrapatyae) ถูกค้นพบที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ. เชียงใหม่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ มีปีกแผ่กว้าง 8.0–8.8 มม. ชื่อชนิด “chandrapatyae” มาจากแถบโค้งบนปีกคู่หน้าคล้ายพระจันทร์เสี้ยว และเพื่อให้เกียรติกับ ศ.ดร. อังศุมาลย์ จัทราปัตย์ โดยตัวอย่างของผีเสื้อเก็บรักษาไว้ที่ห้อง พิพิธภัณฑ์แมลงสุธรรม อารีกุล ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กพส. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขต กพส. จังหวัดนครปฐม

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว และคณะ
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 034-351-886 E-mail: agrnsp@ku.ac.th

เรียบเรียงโดย
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th