ผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลก Genus Kasetsartra Pinkaew, 2018

ผีเสื้อกลางคืนสกุลใหม่ของโลก Kasetsartra fasciaura, sp. nov. จัดอยู่ในสกุลผีเสื้อกลางคืนเกษตรศาสตร์ (Genus Kasetsartra) เผ่า Enarmoniini วงศ์ย่อย Olethreutinae วงศ์ผีเสื้อหนอนม้วนใบ (Family Tortricidae) ถูกค้นพบโดย รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว ภาควิชากีฏวิทยาคณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน การค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ZOOTAXA 4532(1): 95-103  DOI: https://doi.org/10.11646/zootaxa.4532.1.5  โดยตั้งชื่อสกุลเพื่อให้เกียรติกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผีเสื้อสกุลใหม่ของโลกนี้มีการแพร่กระจายเฉพาะในป่าเต็งรังของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

บทบาทของผีเสื้อกลางคืน เช่นเดียวกับผีเสื้อกลางวัน คือช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ในเวลากลางคืน ในด้านสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นตัวบ่งบอกสภาพภูมิประเทศบางอย่างได้ เช่น ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล หรือ ผีเสื้อบางกลุ่มจะพบเจอได้ในป่าบางชนิด บางพื้นที่

คำว่า Kasetsartra fasciaura ชื่อชนิด fasciaura มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำคือ fascia แปลว่า “แถบ” และ aura แปลว่า “สีทอง” ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของแถบสีทองสะท้อนแสงที่ปรากฏในปีกคู่หน้าจำนวน 3 แถบ ลักษณะของ Kasetsartra fasciaura, sp. nov.

  • มีสีเหลืองขนาดเล็ก
  • ปีกแผ่กว้าง 1.3 – 1.5 เซนติเมตร ปีกคู่หน้ามีพื้นปีกสีเหลืองปนน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีเหลืองทองสะท้อนแสงพาดตามขวางปีกจำนวน 3 แถบ
  • ขอบปีกด้านบนมีขีดเล็กๆ สีน้ำตาลอ่อนจำนวนมาก
  • ปีกคู่หลังมีสีขาวบริเวณมุมปลายปีกเป็นสีเหลืองอ่อน
  • เพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แตกต่างกันที่ลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
รศ.ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 034-351-886 E-mail: agrnsp@ku.ac.th

เรียบเรียงโดย
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th