มะเขือเทศเชอรี่ CH154

มะเขือเทศเชอรี่ CH 154 พัฒนาพันธุ์มาจากมะเขื่อเทศเชอรี่ ที่มีขนาดผลเล็กจิ๋วไม่เกิน 15 กรัม รสชาติหวานรับประทานผลสดเป็นผลไม้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน นำสายพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักแห่งเอเซีย (AVRDC-The World Vegetable Center) ไต้หวัน มาปลูกทดสอบผลผลิตในปี พ.ศ.2537-2539 เปรียบเทียบการเจริญเติบโต และลักษณะผล ทั้งด้านรูปร่างผลภายนอก และคุณภาพผลภายใน รสชาติ กลิ่น ความกรอบ ความเหนียวของเปลือก รวมทั้ง ปริมาณเมล็ดในผล นอกจากนี้ยังจัดให้มีการชิมและประเมินผลความชอบ แล้วคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มเป็นพันธุ์การค้าได้ นำไปทดสอบตลาดโดยปลูกเดือนละ 1.2 ไร่ จำนวน 3 ครั้ง เพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง 3-4 เดือน และต่อมาในปี พ.ศ.2540 จึงได้ปล่อยพันธุ์มะเขือเทศ สู่เกษตรกรในชื่อ “เชอรี่ 154”

มะเขือเทศเชอรี่ CH 154 รูปร่างผลยาวรี เมื่อผลสุกมีสีแดงรสชาติหวาน ถ้าอากาศร้อนผลออกสีส้มและรสชาติหวานลดลงได้รับการตอบรับค่อนข้างดีในกลุ่มตลาดระดับซุปเปอร์มาเก็ต ส่วนตลาดท้องถิ่นยังรับได้น้อย เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยไม่นิยมรับประทานมะเขือเทศเป็นสลัดผัก พื้นที่ปลูกมะเขือเทศเชอรี่ CH 154 อยู่ในภาคกลาง เช่น จังหวัดราชบุรี นครปฐม กาญจนบุรี คิดเป็นประมาณ 1,000 ไร่ ต่อปี

ซึ่งลักษณะเด่นของพันธุ์นี้ คือ
ลักษณะผลกลมรี รสชาติเข้มข้น  มีเมล็ดน้อย ง่ายต่อการกิน ผลผลิตสูงมาก มีการเจริญเติบโตแบบกึ่งเลื้อย  ความสูงของต้น ประมาณ 100 – 150 ซม.  มีกิ่งแขนง 6 – 10 แขนง  อายุดอกบานประมาณ 40 – 45 วัน หลังจากหยอดเมล็ด  ช่อดอกเกิดบนลำต้นเกือบทุกข้อ  แต่ละช่อดอกมีดอกย่อย 8 – 15 ดอก  ในฤดูหนาวสามารถติดผลได้มากกว่า 80 %  ทำให้มีผลมากกว่า 300 ผลต่อต้น  ผลผลิตประมาณ 4 – 5 ตัน ต่อไร่  รูปร่างผล ยาวรี รสหวาน เนื้อแน่น มีเมล็ดน้อย ส่วนใหญ่ไม่มีเมล็ด ผลเริ่มสุกแดงประมาณ 50 วัน  หลังจากย้ายปลูกหรือประมาณ 70 – 75 วันหลังจากหยอดเมล็ด  แทบจะไม่มีเมล็ดในฤดูร้อนเลย
การเก็บเกี่ยว  ควรรอให้ผลสุกแดงจนสีผลเป็นสีเข้ม จะมีรสชาติหวานกว่าผลที่เพิ่งเริ่มสุก  เมื่อผลสุกแล้วสามารถปล่อยทิ้งไว้บนต้นได้นานถึง 20 วัน โดยผลไม่เน่าเละ ซึ่งเป็นข้อดีที่สามารถชะลอการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไปได้ระยะหนึ่ง

ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
อาจารย์ภูมิพัฒน์  ทองอยู่
ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 0 3435 3217 ถึง 20

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
อาจารย์ภูมิพัฒน์  ทองอยู่

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6