ชุดทดสอบอินทรียวัตถุในดิน
อินทรียวัตถุในดิน เกิดจากเศษซากพืชหรือสัตว์ที่กำลังสลายตัว หรือสารอินทรีย์ ที่ได้จากการย่อยสลายแล้ว จะเป็นแหล่งธาตุอาหารพืช ทำให้เกิดการดูดซับน้ำและธาตุอาหารไว้ในดินเพื่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้ดินร่วนซุย และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ดิน และเป็นแหล่งสำคัญของไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารหลักที่สำคัญของการผลิตพืช โดยทั่วไปคำแนะนำการใช้ปุ๋ยไปจะวิเคราะห์ดินเพื่อประเมินระดับและใช้เป็นเกณฑ์ในการให้คำแนะนำอัตราปุ๋ยไนโตรเจนสำหรับการผลิตพืช ซึ่งการวิเคราะห์อินทรีย์วัตถุในดินมักทำในห้องปฎิบัติการใช้ระยะเวลานานกว่าเกษตรกรจะทราบผลวิเคราะห์ ดังนั้นเพื่อลดทั้งค่าใช้จ่าย เวลา ชุดทดสอบอินทรียวัตถุในดิน จึงมีความสำคัญต่ออัตราการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อปลูกพืชให้ได้ผลผลิตสูงและลดต้นทุน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จึงได้พัฒนาชุดทดสอบอินทรียวัตถุในดินจากต่างประเทศโดยการทดลองและปรับเปลี่ยนความเข้มข้นของสารละลายและอัตราส่วนดินต่อสารละลาย เพื่อแยกระดับอินทรียวัตถุในดินให้ ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และการใช้อัตราปุ๋ยไนโตรเจนสำหรับการปลูกพืชตามค่าวิเคราะห์อินทรียวัตถุในดินจากห้องปฎิบัติการที่มีคำแนะนำตามพืชเศรษฐกิจอยู่บ้างแล้ว อย่างน้อยการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนให้ได้ตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตหรือลดต้นทุนการผลิตจากการใช้ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสมได้ ชุดทดสอบอินทรียวัตถุในดินที่พัฒนาขึ้นนี จะเป็นชุดทดสอบที่ทำได้ง่าย สะดวก รู้ผลเร็ว ใช้สารเคมี (ด่างทับทิม) ที่ไม่เป็นอันตราย และที่สำคัญค่าวิเคราะห์ต่อตัวอย่างราคาต่ำด้วย
สำหรับวิธีการทดสอบ สามารถนำดินตัวอย่างที่ผ่านการร่อน 1 ช้อน ใส่ในขวดทำปฎิกิริยา เติมน้ำยาทดสอบ (สารละลายโพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต) 1 หลอด เขย่าประมาณ 5 นาที เพื่อให้ทำปฎิกิริยาเติมน้ำ 1 ขวด (30 มิลลิลิตร) แล้วเขย่าให้เข้ากันทิ้งไว้ให้ดินตกตะกอน (ประมาณ 5-10 นาที) จากนั้นเทียบสีสารละลายกับแผ่นเทียบสีจะเห็นค่าสีบอกระดับอินทรียวัตถุในดินต่ำมาก-ค่อนข้างสูง (ตามเกณฑ์ในห้องปฏิบัติการ) หรือเปอร์เซนต์อินทรียวัตถุในดิน เพื่อนำค่าปริมาณอินทรียวัตถุในดินไปใช้กับคำแนะนำการจัดการปุ๋ยไนโตรเจนสำหรับคำแนะนำการใช้ปุ๋ยของพืชต่างๆ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจ
ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
ผศ.ดร.วิภาวรรณ ท้ายเมือง นางสาวศิริสุดา บุตรเพชร
ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร. 09-5124-5163
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ผศ.ดร.วิภาวรรณ ท้ายเมือง
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6