ถั่วลิสงพันธ์ุใหม่ พันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก. 1

ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก. 1  (พันธุ์ KUP13W060) เป็นถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการ “การพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงเพื่อเพิ่มผลผลิตและความต้านทานต่อโรคยอดไหม้ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย” โดยร่วมกันวิจัยปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงชนิดเมล็ดขนาดกลางเพื่อพัฒนาพันธุ์ถั่วลิสงที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคยอดไหม้กว่าพันธุ์เดิมที่เกษตรกรใช้ปลูกอยู่ รวมทั้งมีคุณภาพของเมล็ดเป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง และสามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง โครงการปรับปรุงพันธุ์ถั่วลิสงของภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์ โดยคัดเลือกเชื้อพันธุกรรมถั่วลิสงที่มีการปรับตัวดีและต้านทานต่อโรคยอดไหม้มาใช้เป็นพันธุ์พ่อแม่

ถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก. 1 เป็นพันธุ์แท้ (pure line) ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ขอนแก่น 5 ซึ่งมีคุณภาพในการบริโภคและปรับตัวดี กำหนดให้เป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์ IC10 ซึ่งพบว่ามีความต้านทานต่อโรคยอดไหม้ (Kesmala et al., 2006) กำหนดให้เป็นพันธุ์พ่อ จากนั้นนำลูกผสมชั่วที่ 1 (F1) ผสมกลับไปหาพันธุ์ขอนแก่น 5 อีกครั้ง คัดเลือกโดยวิธีเก็บรวม (bulk method) ร่วมกับวิธีจดประวัติ (pedigree selection) จนถึงประชากร F5 และประเมินผลผลิตเบื้องต้น (preliminary yield trial) ในประชากร F6 แล้วคัดเลือกสายพันธุ์ดีเด่นเพื่อนำมาประเมินผลผลิตในระดับท้องถิ่น (regional yield trial) ที่สถานีวิจัยของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (เจตษฎา และคณะ, 2558)  ซึ่งลักษณะประจำพันธุ์ของถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก.1 ทรงต้นเป็นแบบพุ่มตั้ง ไม่ยืดเลื้อยทำให้ถอนเก็บเกี่ยวได้ง่าย เปลือกฝักมีลาย ดัชนีเก็บเกี่ยวและมีเปอร์เซ็นต์กะเทาะสูง ทดสอบผลผลิตในไร่นาเกษตรกร พื้นที่พบการระบาดของโรคยอดไหม้และพื้นที่ปลูกถั่วลิสงเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือครอบคลุมจังหวัดสกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์

ชนิด/ประเภท  เป็นพืชล้มลุก (annual crop) ชื่อวิทยาศาสตร์ Arachis hypogaea วงศ์ Fabaceae
ราก     ระบบรากแก้ว (tap root system)
ต้น ทรงต้นเป็นแบบพุ่มตั้ง (erect type) แตกกิ่งแบบต่อเนื่อง (sequential) ความสูงต้น 21.8 เซนติเมตร ความกว้างทรงพุ่ม 34.9 เซนติเมตร
ใบ ใบประกอบ (even pinnate) ประกอบด้วย 4 ใบย่อย ลักษณะใบรูปไข่ (elliptic) กว้าง 2.2 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร ปลายใบมน ขอบใบเรียบ ก้านใบมีขน ยาว 0.23 เซนติเมตร
ดอก/ช่อดอก
ดอกออกบริเวณข้อที่ลำต้นแขนง ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีเหลือง อายุวันดอกแรกบาน 25 วันหลังงอก
ฝัก/เมล็ด
ฝักแบบถั่ว (legume) ลักษณะฝักคอดตรงกลาง กว้าง 1.63 เซนติเมตร ยาว 2.6 เซนติเมตร เมล็ดรูปยาวรี เยื้อหุ้มเมล็ดสีชมพูอ่อน เปลือกฝักมีลาย ปลายฝักมีจงอย จำนวนฝัก 17 ฝักต่อต้น ฝักมี 2 เมล็ด กว้าง 1.3 เซนติเมตร ยาว 1.67 เซนติเมตร เปลือกเมล็ด สีชมพูอ่อน น้ำหนัก 100 เมล็ด 51.6 กรัม การกะเทาะร้อยละ 68.3
ลักษณะอื่นๆ
มีระดับการเป็นโรคยอดไหม้ต่ำกว่าพันธุ์ไทนาน 9 และขอนแก่น 5

 

ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์
ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร.0-2397-6704

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
อาจารย์เจตษฎา อุตรพันธ์

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6