คอนกรีตผสมจากเปลือกหอยแมลงภู่

หอยแมลงภู่จัดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญ มีราคาถูก หารับประทานได้ง่าย สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคหอยแมลงภู่ที่มากขึ้นคือ มีเปลือกหอยแมลงภู่ที่เหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก

วิธีการกำจัดเปลือกหอยเหลือทิ้ง ได้แก่ การนำเปลือกหอยไปถมที่ซึ่งก่อให้เกิดมลภาวะ เนื่องจากส่งกลิ่นเหม็นและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรค หากนำไปฝังกลบจะทำให้ดินสูญเสียความพรุน เนื่องจากเปลือกหอยนั้นย่อยสลายได้ยาก มีรายงานการนำเปลือกหอยเหลือทิ้งไปใช้ประโยชน์ เช่น นำไปเผาแล้วบดให้ละเอียดผสมกับขุยมะพร้าวทำเป็นปูนซีเมนต์ธรรมชาติ ผลิตเป็นแผ่นทางเดิน และวัสดุตกแต่งผนัง

คณะผู้วิจัยเสนอแนวทางใหม่ในการกำจัดซากเปลือกหอยโดยนำเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตชนิดต่าง ๆ เช่น เก้าอี้ กระถางต้นไม้ แผ่นทางเดิน เป็นต้น  ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดปริมาณขยะ และยังเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกหอยที่เหลือทิ้ง  นับเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยกำจัดขยะอินทรีย์ ลดความต้องการพื้นที่ในการฝังกลบขยะ และลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม สามารถทำได้เองในครัวเรือนหรือชุมชนที่มีปริมาณเปลือกหอยเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก นำไปต่อยอดในการทำเป็นอาชีพเสริมให้กับแรงงานที่รับจ้างแกะหอยได้อีกด้วย นับเป็นการกำจัดเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งแบบเบ็ดเสร็จ

ขั้นตอนการผลิต

การเตรียมเปลือกหอยแมลงภู่
คัดแยกเอาวัสดุที่ปนเปื้อนมากับเปลือกหอย เช่น เศษพลาสติก เศษไม้ หนวดหอย และเนื้อหอยที่ติดอยู่ออกให้หมด จากนั้นนำเปลือกหอยมาผึ่งแดดให้แห้งสนิท แล้วนำไปบดโดยใช้เครื่องบดแบบหยาบ ให้ได้เปลือกหอยที่มีขนาด 0.5-1 เซนติเมตร

การทำเก้าอี้คอนกรีตผสมจากเปลือกหอยแมลงภู่
อัตราส่วนที่ใช้ = ปูนซีเมนต์: ทรายหยาบ : หิน : เปลือกหอย : น้ำ เท่ากับ 20:30:10:30:10 กิโลกรัม

  1. นำส่วนผสมทั้งหมด (ยกเว้นน้ำ) มาคลุกเคล้าให้เข้ากันในกระบะผสมปูน หลังจากนั้นให้โกยส่วนผสมให้เป็นกองสูง และทำเป็นหลุมไว้ตรงกลางสำหรับใส่น้ำ
  2. ใส่น้ำและทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที หลังจากนั้นผสมให้เข้ากัน ให้สังเกตดูส่วนผสมว่าข้น หรือเหนียวเกินไปหรือไม่ (ถ้าเหนียวเกินไปสามารถเติมน้ำลงไปได้เล็กน้อย)
  3. เทส่วนผสมทั้งหมดลงในแบบที่เตรียมไว้ โดยให้มีความสูงประมาณ 5 เซนติเมตร หลังจากนั้นจึงวางโครงเหล็กที่เตรียมไว้ลงไป และเทส่วนผสมทั้งหมดลงในแบบ
  4. ใช้เหล็กกระทุ้งเข้าไปในเนื้อของส่วนผสม เพื่อไล่อากาศ และให้ส่วนผสมลงไปทั่วแบบเหล็ก ทิ้งไว้ 1-2 วัน แล้วจึงสามารแกะแบบได้

การใช้ประโยชน์ 

  • เปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งสามารถนำมาทดแทนซีเมนต์บางส่วนได้ ช่วยในการกำจัดขยะเปลือกหอย ไม่ให้เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเปลือกหอยเหลือทิ้ง
  • วิธีการผลิตคอนกรีตสามารถทำได้เองในครัวเรือนหรือชุมชนที่มีปริมาณเปลือกหอยเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ผศ.ดร.จินตนา สและน้อย และคณะ
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 081-207-0050 E-mail: ffisjid@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th