ไฮโดรเจลไมโครสเฟียร์ที่บรรจุสารสกัดขมิ้นชันที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เพื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพสัตว์

ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หาง่าย ราคาถูก มีสรรพคุณในการรักษาโรค โดยเฉพาะสารสกัดขมิ้นชัน มีฤทธิ์ในการยับยั้งแบคทีเรียทั้งแกรมบวกและแกรมลบ แต่อย่างไรก็ตาม สารสกัดขมิ้นชันเสื่อมสภาพได้ง่ายจากสภาวะภายนอก เช่น อุณหภูมิ แสง เป็นต้น ดังนั้นเพื่อชะลอการเสื่อมสลายของสารสกัดขมิ้นชันก่อนที่จะนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพสัตว์ที่ใช้บนผิวหนัง จึงสังเคราะห์ไมโครแคปซูลพอลิเมอร์ร่วมอะคริลาไมด์-กรดอะคริลิค (PAM-AA) เพื่อห่อหุ้มสารสกัดขมิ้นชัน พร้อมทั้งสามารถปลดปล่อยสารสกัดขมิ้นชันจากพอลิเมอร์ร่วมได้

ไฮโดรเจลไมโครสเฟียร์ที่บรรจุสารสกัดขมิ้นชันนี้ สังเคราะห์ผ่านกระบวนการเกิดพอลิเมอร์แบบผันกลับ โดยใช้น้ำเป็นวัฏภาคภายในเป็นส่วนที่ช่วยกระจายตัว ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อการนำมาใช้กับสิ่งมีชีวิต พร้อมทั้งพิสูจน์เอกลักษณ์ได้ด้วยเทคนิค FT-IR SEM ทดสอบเสถียรภาพทางความร้อนด้วยเทคนิค TGA ประสิทธิภาพในการกักเก็บและจลศาสตร์การปลดปล่อยยาต้านเชื้อจุลชีพในภาวะจำลองความเป็นกรดด่างด้วยเทคนิค UV-Vis อัตราส่วนมอนอเมอร์ 9:1 8:2 และ 7:3 3 มีขนาดอนุภาคเฉลี่ย 38.67 31.89 และ 27.52 ไมโครเมตร ตามลำดับ และร้อยละการบวมตัว คือ 721 1025 และ 1403 ตามลำดับ

 

เมื่อทดสอบความสามารถการยับยั้งเชื้อ S.intermedius และ E.coli ได้จากการนำพอลิเมอร์ร่วมไปปลดปล่อยสารสกัดขมิ้นชันในสภาวะจำลอง ที่มีเชื้อแบคทีเรียเปรียบเทียบกับสารละลายมาตราฐานคลอแรมฟินอล โดยสังเกตการเปลี่ยนสีของ INT violet อินดิเคเตอร์ไม่เปลี่ยนเป็นสารละลายสีม่วง แสดงถึงการยับยั้งแบคทีเรียทั้งสองชนิดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อเพิ่มปริมาณสารลดแรงตึงผิว ซึ่งสอดคล้องกับผลการทดสอบการปลดปล่อยสารสกัดขมิ้นที่สามารถปลดปล่อยสารสกัดได้มากขึ้น เนื่องจากขนาดอนุภาคที่เล็กลงส่งผลให้มีพื้นที่ผิวให้สารละลายบัฟเฟอร์เข้าทำอันตรกริยาได้มากขึ้นและเมื่อสารสกัดขมิ้นชันถูกปลดปล่อยออกมาได้เยอะขึ้น จึงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียทั้งสองชนิดได้ดี

ประโยชน์ ต้นแบบองค์ความรู้ในการนำขมิ้นชัน (Turmeric) มาใช้แทนยาปฏิชีวนะ (antiobiotic) สร้างแรงจูงใจการนำสมุนไพรไทยมาประยุกต์ใช้มากขึ้น ลดผลกระทบสารตกค้างและการดื้อยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
นางสาวศิริพร ปราณี
นางสาวมนัญญา พวงลำเจียก
ผศ.ดร สมิทธิชัย สียางนอก
ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร. 09-6928-4284

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
นางสาวศิริพร ปราณี
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย
🌟 แนะนำ/ติชม  https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6