มันสำปะหลังพันธุ์ “เกษตรศาสตร์ 1”

ปัจจุบัน โรงงานอุตสาหกรรมทางด้านแป้งมันสำปะหลัง มีความสนใจในการผลิตแป้งฟลาวคุณภาพสูงจากมันสำปะหลัง ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อทดแทนแป้งสาลีที่เป็นสิ้นค้านำเข้าจากต่างประเทศเป็นมูลค่าปีละมากกว่าหมื่นล้านบาท (ศูนย์สถิติการเกษตร, 2562) โดย แป้งฟลาวจากมันสำปะหลังมีข้อได้เปรียบแป้งจากข้าวสาลี 2 ประการ ก็คือ (1) ปราศจากสารกลูเต็น (gluten) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง มักจะเกิดการแพ้กับคนบางคนได้ และ(2) มีสารอะคริลาไมด์ (acrylamide) ในปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับแป้งจากข้าวสาลี ข้าวโพด และมันเทศ  โดย สารชนิดนี้ก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ได้ เกิดขึ้นจากกรดอะมิโนแอสพาราจีนทอดหรืออบในอุณหภูมิสูง (ลัดดาวัลย์และคณะ, 2554; โอภาษ, 2549 และ Food safty consultation, 2002) การปรับปรุงพันธุ์ และคัดเลือกพันธุ์มันสำปะหลังที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวสดสูง ผลผลิตดี และมีไซยาไนด์ต่ำ จะเป็นอีกทางเลือกสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง

สำหรับประเทศไทย มีการผลิตแป้งฟลาวจากมันสำปะหลังเพื่อการค้าแล้วแต่ยังใช้พันธุ์มันสำปะหลังชนิดขม (bitter type)หรือพันธุ์อุตสากรรม เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งฟลาว ซึ่งยังมีปริมาณไซยาไนด์ในหัวสดสูง รสชาติและเนื้อสัมผัสอยู่ในขั้นต้องพัฒนาให้ดีขึ้นอีก ดังนั้น นักวิจัยจึงได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์มันสำปะหลัง “พันธุ์เกษตรศาสตร์ 1”ซึ่งเป็นมันสำปะหลังชนิดหวาน (sweet type)หรือพันธุ์รับประทาน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งฟลาวมันสำปะหลังคุณภาพสูงโดย มีปริมาณสารไซยาไนด์และอะคริลาไมด์ต่ำ

มันสำปะหลังพันธุ์ “เกษตรศาสตร์ ๑” ให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ย ๕.๔ ตันต่อไร่ ปริมาณแป้งในหัวสดเฉลี่ย ๓๐.๒ เปอร์เซ็นต์ เป็นมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ที่มีปริมาณแป้งในหัวสดสูง ผลผลิตดี ไซยาไนด์ในหัวสดต่ำ สามารถรับประทานได้ ปลูกและปรับตัวได้ดีในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วไป ทนต่อสภาวะฝนทิ้งช่วง และทนต่อสภาวะหัวเน่าเมื่อฝนตกติต่อกันเป็นระยะเวลานาน ต้นพันธุ์เมื่อตัดแล้วสามารถเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานานก่อนปลูก เป็นที่ต้องการของเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตแป้งมันสำปะหลัง สำหรับหัวมันสดเหมาะสมใช้ทำผลิตภัณฑ์มันทอดชนิดแผ่น หรือส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ด้านแป้งมันสำปะหลังโดยเฉพาะแป้งฟลาว เอทานอล และ แอลกอฮอล์ ฯลฯ ส่วนต้นแก่ใช้สำหรับปลูกเพื่อผลิต และขยายพันธุ์ ต้นมันสำปะหลังที่เหมาะสมสำหรับทำพันธ์ ควรมีอายุตั้งแต่ ๘ เดือนขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน ๑๔ เดือน แปลงผลิตควรเป็นแปลงที่ตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรค และแมลง ต้นพันธุ์ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นไม่น้อยกว่า ๑ นิ้ว มีความยาวของต้นไม่น้อยกว่า ๑.๒๐ เซนติเมตร ต้องเป็นต้นที่สดและใหม่ ไม่ควรตัดไว้นานเกิน ๑๕ วัน

 

ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
นักวิจัย สกล ฉายศรี
สถานีวิจัยลพบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 08-2246-0483

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
คุณสกล ฉายศรี

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

🌟 แนะนำ/ติชม
https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6