ชุดทดสอบปริมาณโลหะหนักในน้ำอย่างง่าย

ปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณการปนเปื้อนซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการปนเปื้อนโลหะแคดเมียมและสังกะสีที่สามารถปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติจากการทำเหมืองแร่ หากประชาชนนำน้ำที่มีโลหะหนักปนเปื้อนดังกล่าวมาใช้ในการอุปโภคและบริโภคจะเกิดการสะสมอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้นาน 10 – 30 ปี ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณต่อปีสูงมากเพื่อใช้ในการจัดการและใช้ในทางการแพทย์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยจากพิษของโลหะหนัก

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากการได้รับโลหะหนักที่ปนเปื้อนเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายมนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องทำการตรวจวิเคราะห์น้ำก่อนการอุปโภคและบริโภค ในขณะที่วิธีการตรวจวิเคราะห์แคดเมี่ยมและสังกะสีแบบดั้งเดิมจำเป็นต้องมีขั้นตอนการเตรียมตัวอย่างที่ซับซ้อน รวมถึงมีราคาค่าวิเคราะห์สูง เช่น เครื่อง Flame atomic absorption spectrophoto- meter (FAAS) อีกทั้งผู้วิเคราะห์ต้องมีทั้งความรู้และทักษะทางเคมีวิเคราะห์ในการเตรียมและวิเคราะห์ตัวอย่าง ดังนั้นการใช้ชุดทดสอบวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ณ แหล่งน้ำนั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทันที ซึ่งข้อดีของการใช้ชุดทดสอบนั้นต้องเป็นวิธีการที่สามารถใช้งานได้ง่าย

ชุดทดสอบสารโลหะแคดเมี่ยมและสังกะสีใช้หลักการปฏิกริยาสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะแคดเมี่ยมกับสังกะสีกับสารอินทรีย์ในสภาวะของค่าพีเอชที่มีความจำเพาะ จากนั้นเติมสารบดบังเพื่อลดการรบกวนจากโลหะอื่นๆ และเติมสารลดแรงตึงผิวเพื่อเพิ่มความเสถียรของปฏิกิริยา

ผลการทดสอบชุดทดสอบปริมาณโลหะหนักในน้ำ เมื่อเกิดปฏิกิริยาที่เป็นผลบวกสีของสารละลายจะเปลี่ยนสีชมพูซึ่งสามารถแปรผลทดสอบได้ด้วยตาเปล่าสามารถตรวจสอบปริมาณ โลหะแคดเมี่ยมได้ถึงระดับ 0.25 mg/L และสังกะสีได้ถึง 0.15 mg/L สามารถเห็นผลการทดสอบได้ทันที

ชุดทดสอบนี้สามารถใช้งานง่าย ราคาถูก สะดวก รวดเร็ว มีความแม่นยำ แปลผลง่ายและเหมาะสมต่อบริบทของผู้ใช้งาน เช่น ประชาชนทั่วไป เกษตรกร รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ เช่นห้องปฏิบัติการเคมี ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นต้น

 

ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
รศ.ดร.ชัยณรงค์ สกุลแถว
รศ.ดร.ชนัตถ์ โชคเจริญรัตน์
นางสาวคณิศรวีร์ เตชะเอื้อย
คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ และคณะสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  โทร. 08-9706-4869

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ผศ.ดร.ชัยณรงค์ สกุลแถว

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย

 

 

 

🌟 แนะนำ/ติชม  https://forms.gle/e3MzPqrb2V9QE9Tp6