องค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาโรคไวรัสทิลาเปียเลคในปลานิลอย่างยั่งยืน

ปลานิลเป็นปลาที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุดของประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาทต่อปี และยังถูกเพาะเลี้ยงมากเป็นอันดับสองของโลก มูลค่าประมาณปีละ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้ปลานิลจะเป็นปลาที่เลี้ยงได้ง่ายและทนต่อสภาพการเลี้ยงหลากหลาย แต่การเลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่ทั้งจากแบคทีเรียและไวรัสที่สร้างผลกระทบต่อการผลิตปลานิล ผลงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาโรคไวรัสอุบัติใหม่ เรียกว่า โรคไวรัสทิลาเปียเลค (Tilapia Lake Virus Disease: TiLVD) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Tilapia Lake Virus (TiLV) เชื้อนี้ได้สร้างปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลานิลทั่วโลก ถึงปัจจุบันมีรายงานการตรวจพบเชื้อ TiLV ใน 4 ทวีป 16 ประเทศ ปลานิลที่ติดเชื้อไวรัส TiLV มีอัตราการตายระหว่าง 20–90% ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสร้างผลกระทบอย่างมาก

ชุดโครงการวิจัยนี้เป็นการศึกษาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัส TiLV โดยครอบคลุมตั้งแต่การค้นพบเชื้อไวรัสเป็นครั้งแรกในประเทศไทย การแยกเชื้อไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยง การพัฒนาวิธีตรวจวินิจฉัยโรค การศึกษากลไกก่อโรค การตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน การประยุกต์ใช้ความรู้ด้านการจัดการโรคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคภายในฟาร์ม เช่น การศึกษาประสิทธิภาพของยาฆ่าเชื้อ การนำหลักความปลอดภัยทางชีวภาพไปใช้จัดการฟาร์ม การพัฒนานวัตกรรมเพื่อใช้ควบคุมและป้องกันโรค เช่น วัคซีนและวิธีตรวจวินิจฉัยโรค เป็นต้น

ผลผลิตจากโครงการวิจัยได้ถูกถ่ายทอดไปสู่เกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ผ่านการสัมมนา การอบรมระยะสั้น การลงบทความในหนังสือพิมพ์และวารสารด้านสัตว์น้ำ การทำงานกับฟาร์มผู้ผลิตปลานิลรายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งองค์ความรู้จากโครงการวิจัยได้สร้างผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ โดยถูกนำไปปฏิบัติภายในฟาร์มปลานิลเพื่อลดความสูญเสียจากโรค TiLVD ทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาวิธีตรวจโรคและวัคซีนที่จะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคไวรัสชนิดใหม่นี้ให้กับเกษตรกรหลายล้านคนทั่วโลก ผลงานเชิงประจักษ์อีกด้านคือ ข้อมูลและความรู้พื้นฐานที่เกิดจากผลงานวิจัยได้ถูกนำไปอ้างอิงและใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย (policy guideline) ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ โดยถูกบรรจุในเอกสารจากหน่วยงาน เช่น กรมประมง องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agricultural Organization of the United Nations, FAO) และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health, OIE), Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific (NACA) เป็นต้น การเชิญให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นวิทยากรอบรมให้กับหน่วยงานราชการและเอกชน โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มชื่อเสียงและการยอมรับของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในเวทีระดับโลก ประโยชน์ของโครงการวิจัยยังช่วยผลิตบัณฑิตและบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับโรคระบาดในสัตว์น้ำ การสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจวินิจฉัยโรค และห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมช่วยเหลือภาคเอกชน ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการวิจัยและอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของประเทศไทย

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
รศ.น.สพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์ และ น.ส.ปุณธนาฒย์ ทัตติยพงศ์
ภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 089-9006-117 E-mail: fvetws@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th