น้ำยายืดอายุผลไม้จาก AgNPs ที่สังเคราะห์ด้วยเปลือกมังคุด

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีผัก และผลไม้เป็นสินค้าส่งออกหลัก ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยต้องสูญเสียผักและผลไม้จากการเน่าเสียมากถึง 17 % โดยมีมูลค่าทางการค้าสูงถึง 25 พันล้านเหรียญ สหรัฐต่อปี ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาที่มีคุณสมบัติในการยืดอายุการเสื่อมเสียของผัก และผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นการใช้อนุภาคเงินขนาดนาโนที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลายกลุ่ม แต่ในกระบวนการสังเคราะห์ในปัจจุบันในระดับอุตสาหกรรมได้มาจากการสังเคราะห์ด้วยกระบวนการทางเคมีซึ่งส่วนใหญ่มีความเป็นพิษ จึงทำให้มีข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้การศึกษาการผลิตอนุภาคเงินขนาดนาโนด้วยกระบวนการทางชีวภาพ (bio-synthesis) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

จากการศึกษาพบว่า สารสกัดจากเปลือกมังคุดมีศักยภาพสูงในการสังเคราะห์อนุภาคเงินขนาดนาโนด้วยกระบวนการชีวสังเคราะห์ โดยอนุภาคเงินขนาดนาโนที่สังเคราะห์ได้มีอนุภาคขนาดเล็ก 35-88 นาโนเมตร มีประสิทธิภาพสูงในการยับยั้งเชื้อราสาเหตุการเน่าเสียของผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว จำนวน 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Aspergillus niger, Colletotrichum gloeosporioides, Lasiodiplodia theobromae และ Rhizopus stolonifer ตลอดจนมีความปลอดภัย จึงสามารถนำไปใช้พัฒนาน้ำยาเพื่อยืดอายุผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว โดยในการศึกษา ครั้งนี้ได้ใช้มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นผลไม้ต้นแบบ

สูตรน้ำยายืดอายุของผลไม้หลังการเก็บเกี่ยวที่พัฒนาขึ้นโดย ใช้สูตรผสมของสารออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมเชื้อราสาเหตุการเสื่อมเสียของผักและผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว และมีความปลอดภัย ซึ่งได้แก่ อนุภาคเงินขนาดนาโนที่ผลิตด้วยกระบวนการชีวสังเคราะห์จากสมุนไพรของไทยร่วมกับสารสกัดจากสมุนไพรในอัตราส่วนที่มีความจำเพาะ จึงสามารถส่งเสริมให้สูตรน้ำยาที่พัฒนามีประสิทธิภาพในการยืดอายุการเน่าเสียของผลไม้ได้ยาวนานขึ้นกว่า 3 เท่า รวมทั้งทั้งผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามีความปลอดภัยจากผลการทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ได้ผลิตภัณฑ์ได้อย่างมั่นใจ
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
  • ควบคุมการเน่าเสียได้ 44.50%
  • ยืดอายุการเก็บรักษาผลไม้ได้ 3 เท่า ที่อุณหภูมิห้อง
  • มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
นางสาวประภัสสร รักถาวร
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 02-9428600-3 ต่อ 407 E-mail: aappsr@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th