การออกแบบและพัฒนาเครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าว
มะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สําคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักสําคัญในการประกอบอาหารเพื่อบริโภคหลากหลายชนิด เกษตรกรได้มีการดำเนินกิจกรรมเก็บผลผลิตและขนย้ายมะพร้าวจากสวนขึ้นสู่รถกระบะ โดยใช้แรงงานคนในการขนย้ายเป็นหลัก ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานที่สูงประกอบกับแรงงานคนที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เกษตรกรต้องการเครื่องมือที่ช่วยในการลำเลียงทะลายมะพร้าวที่เหมาะสม เพื่อลดการใช้แรงงานคนและลดต้นทุนในการเก็บผลผลิตด้วยเครื่องจักรกลเกษตร โดยผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช และคณะทีมวิจัยภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ทำการออกแบบและพัฒนาเครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าว ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก คุณเปรม ณ สงขลา สวนเคหการเกษตร เพื่อจัดทำเครื่องลำเลียงทะลายมะพร้าวเพื่อการเก็บสะดวกในการลำเลียงทะลายมะพร้าวขึ้นจากร่องน้ำและขึ้นรถกระบะบรรทุก
สำหรับการเก็บมะพร้าวน้ำหอมแบบดั่งเดิมจะเริ่มจากตัดทะลายมะพร้าวลงสู่ร่องน้ำ ลากทะลายมะพร้าวมาไว้ที่ทางลาดเพื่อนำขึ้นสู่บนพื้นดิน จากนั้นใช้แรงงานคนขนมะพร้าวขึ้นจากร่องน้ำสู่พื้นดิน และใช้คนขนมะพร้าวจากพื้นดินสู่รถกระบะ 1 ตัน ซึ่งต้องใช้แรงงานคนค่อนข้างมาก จึงได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องลำเลียงมะพร้าวที่เพิ่มความสะดวกในการลำเลียงทะลายมะพร้าวขึ้นจากร่องน้ำและขึ้นรถกระบะบรรทุกขนาด 1 ตัน โดยออกแบบส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้
– เครื่องลำเลียงต้นแบบประกอบด้วย ต้นกำลังเครื่องยนต์แก๊สโซลีน ระบบสายพานลำเลียง ระบบปรับมุมเอียง โครงสร้างเครื่องลำเลียงยาว 3 เมตร และล้อยางรองรับน้ำหนักตัวเครื่อง
– เครื่องลำเลียงต้นแบบสามารถปรับมุมเอียงในการลำเลียงมะพร้าวได้
– เครื่องลำเลียงต้นแบบสามารถพ่วงติดรถแทรกเตอร์เพื่อการเคลื่อนย้ายได้
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช
ภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-0588 ต่อ 1519,1520
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ผศ.ดร.ปิยะพงษ์ ศรีวงษ์ราช
✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย