มะเขือเทศพันธุ์สีดาทิพย์ 5

มะเขือเทศรับประทานผลสดพันธุ์แท้ ทนร้อนและต้านทานโรค ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์โดยวิธีการผสมพันธุ์ระหว่าง มะเขือเทศพันธุ์ CLN 3125 F1 (พันธุ์แม่) กับมะเขือเทศพันธุ์ สีดาทิพย์ 4 (พันธุ์พ่อ) ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 – 2561 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  จำนอง โสมกุล และทีมนักวิจัย ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ดำเนินการผสมข้ามสายพันธุ์ เพื่อสร้างสายพันธุ์แท้พันธุ์ใหม่ให้มีลักษณะคล้ายกับมะเขือเทศพันธุ์สีดาทิพย์ 4 มียีนต้านทานโรคใบหงิกเหลือง Ty-2/Ty-2 มีผลขนาดใหญ่ขึ้น ผลแข็ง เนื้อหนา ทนทานต่อการขนส่ง มีวิตามินซี 24.38 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร

มะเขือเทศพันธุ์สีดาทิพย์ 5 ใช้เป็นพันธุ์ปลูกพันธุ์แท้ ลดต้นทุนการใช้สารเคมี เพราะมียืนต้านทานโรค ใบหงิกเหลืองและแรงงานในการเก็บเกี่ยว เพราะผลใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด เพราะได้ผลผลิต ผลใหญ่ สีสวย เนื้อหนา มีวิตามินซีสูงกว่าพันธุ์พ่อแม่

 

 

 

ลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์
ชนิด/ประเภท  : มะเขือเทศ (tomato) ชื่อวิทยาศาสตร์ Lycopersicon esculentum mill. วงศ์ Solanaceae ไม้ล้มลุก พืชผัก

ราก :  ระบบรากแก้ว (tap root system) และมีรากพิเศษ (adventitious root) บริเวณลำต้นที่สัมผัสกับดิน

ต้น : ไม้พุ่ม กึ่งเลื้อย (semi-indeterminate) สูง 70 – 80 เซนติเมตร ลำต้นเป็นเหลี่ยม มีขนปกคลุมจำนวนมาก

ใบ : ใบประกอบ เรียงสลับกัน ใบย่อย 7 – 9 ใบ ใบมีขนสีเขียว

ดอก/ช่อดอก : ช่อดอกแบบช่อกระจะ (raceme) เกิดระหว่างใบ ดอกย่อยมีจำนวนประมาณ 5 – 10 ดอก ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว กลีบดอกขณะตูมสีขาว ดอกบานสีเหลือง จำนวน 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน อยู่รอบเกสรเพศเมีย ออกดอกที่อายุ 50 – 60 วันหลัง เพาะเมล็ด

ผล : ผลรูปไข่กลับ กว้าง 3 – 5 เซนติเมตร ยาว 5 – 6 เซนติเมตร ผลแข็ง ขั้วผลเหนียว ผลอ่อน สีขาว ผลสุกสีชมพู น้ำหนักผล 30 – 50 กรัม ความหนาเนื้อ 5 – 6 มิลลิเมตร จำนวนผล 25 – 30 ผลต่อกิโลกรัม

เมล็ด : เมล็ดเป็นรูปไต สีน้ำตาล มีขนปกคลุม เมล็ด 390 เมล็ด นำ้หนัก 1 กรัม

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
จำนอง โสมกุล
ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โทร.06-4246-9551

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
จำนอง โสมกุล

 

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย