ข้าวโพดหวานสีม่วง เคยู คอร์นเบอรี Kspsx5903

ข้าวโพดหวาน (Zea mays L. saccharata) จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อใช้ในการบริโภคฝักสดและการแปรรูป ข้าวโพดมีความหลากหลายของสี เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง สีม่วง สีน้ำตาล สีเขียวและสีน้ำเงิน เป็นต้น โดยธรรมชาติสารแอนโทไซยานินพบในพืชที่มีสีน้ำเงิน สีม่วง สีชมพูและสีแดง ข้าวโพดสีม่วง (purple corn) อุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานินที่มีปริมาณสูง

ข้าวโพดหวานสีม่วงซึ่งมีสารแอนโทไซยานินสูง มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน สามารถยับยั้งการเกิดเนื้องอก ลดจำนวนเซลล์มะเร็ง และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมทั้งมีคุณภาพโปรตีนสูงจากกรดอะมิโนทริปโตแฟน ดังนั้น การปรับปรุงพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพสารอาหารในข้าวโพดหวานจึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคโดยตรง และเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าอีกแนวทางหนึ่ง

โครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดหวาน ภายใต้โครงการโครงการวิจัยเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานเพื่อเพิ่มปริมาณแอนโทไซยานินและทริปโตแฟนในเมล็ด ซึ่งสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จากผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานให้มีคุณค่าทางอาหาร คือ มีสารแอนโทไซยานิน และทริปโตแฟนในเมล็ด และมีคุณภาพการรับประทาน

จากผลการทดลองจึงได้คัดเลือกคู่ผสมข้าวโพดหวานสีม่วงที่ผ่านการทดสอบผลผลิตและคุณภาพการรับประทานเป็นเวลา 3 ปี ได้คัดเลือกคู่ผสมที่มีศักยภาพดีที่มีสารแอนโธไซยานิน และมีปริมาณโปรตีน (ทริปโตแฟน) ในเมล็ด คือ พันธุ์ Kspsx5903 เพื่อเป็นข้าวโพดหวานที่จะมีประโยชน์ด้านสุขภาพแก่ผู้บริโภค สามารถบริโภคเป็นฝักสดได้แล้ว ยังสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปได้หลากหลายและยังคงประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ไอศกรีม ข้าวโพดสุญญากาศ และชาจากไหมข้าวโพด เป็นต้น

Tryptophan (ทริปโตเฟน)

เป็นกรดอมิโนที่จำเป็นจากธรรมชาติ ซึ่งร่างกายสร้างเองไม่ได้ โดยสมองจะเปลี่ยนทริปโตเฟนเป็นสารซีโรโทนิน (serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทส่วนกลางที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยให้ผ่อนคลายและทำให้นอนหลับได้ดี

Anthocyanin (แอนโทไซยานิน)

ช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมเร็งชนิดเนื้องอก ช่วยเสริมให้ร่างกายต่อต้านเชื้อโรคและสมานแผล และยังเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้น

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
ดร.ชฎามาศ จิตต์เลขา และคณะผู้วิจัย
ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 061-558-5280 E-mail: ijscdm@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th