ผลิตภัณฑ์กำบังการรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้ามาจากวัสดุเชิงประกอบยางธรรมชาติผสมคาร์บอนนาโนทูป

 

การรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMI) คือ การที่สัญญาณหรือการแพร่กระจายใดๆ เกิดการแผ่รังสีในพื้นที่ว่างหรือเกิดการเหนี่ยวนำขึ้นตามสายไฟหรือสายสัญญาณ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบนำทางแบบคลื่นวิทยุ หรือการให้บริการด้านความปลอดภัยอื่นๆ นอกจากนี้ยังอาจลดความชัดเจนของสัญญาณ ขัดขวาง หรือรบกวนการติดต่อสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุที่ได้รับอนุญาตแล้ว การบริการการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุจะประกอบแต่ไม่จำกัดเฉพาะที่การกระจายเสียง AM/FM ในเชิงพาณิชย์ โทรทัศน์ การบริการสื่อสารผ่านระบบเซลลูลาร์ เรดาร์ การควบคุมการจราจรทางอากาศ  และการบริการการสื่อสารส่วนบุคคล (PCS) ต่างๆ การบริการด้วยคลื่นวิทยุที่ได้รับอนุญาต และการบริการด้วยคลื่นวิทยุที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น Bluetooth รวมทั้งอุปกรณ์ที่แผ่รังสีโดยไม่ตั้งใจ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้เรายังพบปัญหาอีกประการหนึ่งคือการรบกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อคัดลอกข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางเจตนาที่ไม่ดี

 

อย่างไรก็ตามในหลายๆ งานที่ต้องการกำบังการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า อาจต้องใช้วัสดุกำบังการรบกวนสัญญาณเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังที่ได้กล่าวข้างต้น ดังนั้นผลงานนวัตกรรมนี้จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาวัสดุเชิงประกอบยางธรรมชาติที่ผสมสารตัวเติมที่มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าที่ดี นั่นคือคาร์บอนนาโนทูป เนื่องจากวัสดุเชิงประกอบยางธรรมชาติมีความสามารถในการนำไฟฟ้าที่ต่ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการกำบังการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้ได้วัสดุกำบังการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้า ที่มีคุณสมบัติเด่นด้านความยืดหยุ่น โค้งงอได้ดี มีความทนทาน มีประสิทธิภาพในการกำบังการรบกวนทางแม่เหล็กไฟฟ้าที่ดี และสามารถนำไปปรับใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายมากขึ้น

 

จุดเด่น/ความแปลกใหม่ ของผลงาน

  • ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นการเพิ่มมูลค่าของยางธรรมชาติ ซึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกยางธรรมชาติมีรายได้สูงขึ้น
  • เป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยในการใช้งาน เนื่องจากใช้ส่วนผสมต่างๆ ที่ปราศจากสารเคมีที่อันตราย โดยใช้รังสีในการวัลคาไนท์ยางธรรมชาติแทนการวัลคาไนท์ด้วยสารเคมี
  • ผลิตภัณฑ์สามารถทำเป็นลักษณะอื่นได้หลายรูปแบบตามความต้องการในการใช้งานเนื่องจากทำจากยางธรรมชาติ

 

 

ประโยชน์ของผลงาน

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวช่วยเพิ่มมูลค่าให้ยางธรรมชาติซึ่งส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกยางธรรมชาติมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมยางถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย อีกทั้งผลิตภัณฑ์นี้ สามารถกำบังการรบกวนของคลื่นแม่เหล็

กไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีสมบัติเชิงกลที่ดี ทั้งในด้านการยืดหยุ่นและการโค้งงอ จึงสามารถเพิ่มความสะดวกให้ผู้ปฏิบัติงานและบุคคลทั่วไปสามารถนำผลิตภัณท์เคลื่อนย้ายไปกำบังบริเวณที่ต้องการได้โดยง่าย อีกทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นการลดต้นทุนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศและเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทยได้อีกด้วย

 

ติดต่อขอข้อมุลเพิ่มเติมได้ที่
ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสนบุญเรือง, และ น.ส.บุษราภรณ์ มูลเหล็ก
ภาควิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 091-738-7152

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ผศ.ดร.เกียรติศักดิ์ แสนบุญเรือง

✍ ผลิตสื่อโดย ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย