หน้ากากผ้าจากเส้นไหมด้วยแผ่นกรองผสมอนุภาคซิลเวอร์นาโน

อนุภาคเงินขนาดนาโนโดยส่วนใหญ่ที่ใช้ในระดับอุตสาหกรรมได้มาจากการสังเคราะห์ด้วยกระบวนการทางเคมี  จะมีความเป็นพิษ จึงส่งผลให้การนำอนุภาคเงินขนาดนาโนมาใช้ประโยชน์มีข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถนำมาใช้กับมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตได้ อีกทั้งกระบวนการสังเคราะห์ยังส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จากเหตุผลดังกล่าวนักวิจัยจึงคิดค้นวิธีการสังเคราะห์ที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เริ่มจากนำพืชสมุนไพรไทยที่มีสารประกอบฟีนอลิกสูง เช่น เปลือกมังคุดมาสังเคราะห์อนุภาคซิลเวอร์นาโนด้วยเทคโนโลยีสีเขียว (Green Biosynthesis) ภายใต้การทำปฏิกิริยากับ AgNO3 เพื่อเกิดการรีดิวซ์ให้อยู่ในรูป Ag0 จากนั้นทำการแยกอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่ผลิตได้ นำไปทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพด้านต่างๆ เช่น ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ รวมทั้งความเป็นพิษของสารที่สังเคราะห์ได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอนุภาคนาโนที่มีขนาดเล็ก และมีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อสาเหตุการเกิดโรคได้หลายกลุ่ม เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส และมีความปลอดภัยสำหรับการที่จะนำไปใช้กันมนุษย์ จากนั้นนำไปใช้เป็นส่วนสำคัญในการผนึกบนแผ่นกรองเมมเบรนเพื่อนำไปใช้พัฒนาหน้ากากผ้าจากเส้นไหมด้วยแผ่นกรองผสมอนุภาคซิลเวอร์นาโนเพื่อป้องกันจุลชีพและอนุภาคขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสังเคราะห์อนุภาคซิลเวอร์นาโนด้วยเทคโนโลยีสีเขียว (Green Biosynthesis) จากพืชสมุนไพรไทย
การนำไปใช้ประโยชน์

นำอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่สังเคราะห์ได้ มาผนึกบนแผ่นกรองเมมเบรน นอนวูฟเวนของหน้ากากผ้า ซึ่งจะสามารถถอดออก ก่อนนำหน้ากากผ้าไปซัก จึงทำให้สามารถมีอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่มีในแผ่นกรองได้มากกว่า 30 ครั้ง

การทำงานอนุภาคซิลเวอร์นาโน
  1. จะจับกับผิวหน้าของเยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียและรบกวนการทำงานระดับเซลล์ของเชื้อจุลินทรีย์
  2. สามารถแทรกเข้าไปภายในเซลล์เชื้อจุลินทรีย์และรบกวนการทำงานระดับโมเลกุล
  3. เกิดการสลายตัวและปลดปล่อย Silver ion (Ag+) ออกมาด้วยความเข้มข้นสูง สามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคได้อย่างรวดเร็ว
การพัฒนาหน้ากากผ้าจากเส้นไหมด้วยแผ่นกรองผสมอนุภาคซิลเวอร์นาโนเพื่อป้องกันจุลชีพ และอนุภาคขนาดเล็ก

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
น.ส.ประภัสสร รักถาวร
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2942-8600-3 E-mail: aappsr@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail: rdityt@ku.ac.th