การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปกล้วยแก่เกษตรกร

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=Wvicw1mbIbE[/youtube]

สวัสดีครับคุณผู้ฟังทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งนะครับกับรายการจากแฟ้มงานวิจัย มก. รายการนี้ผลิตโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รายการของเราเป็นรายการที่จะนำเสนอเรื่องราวผลงานวิจัยดีๆของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อให้คุณผู้ฟังได้นำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือเพื่อเสริมสร้างได้รายให้กับตนเอง โดยมีกระผม วิทวัส ยุทธโกศา เป็นผู้ดำเนินรายการครับ

คุณผู้ฟังครับ“กล้วย” ไม้ผลเศรษฐกิจของโลกและของไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ต้องการอาหารที่มีคุณประโยชน์หลากหลายเพื่อป้อนเข้าสู่ประชาคมโลก และประเทศไทยถือได้ว่ามีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการผลิตไม้ผลเขตร้อนเป็นอย่างมากครับ โดยเฉพาะกล้วย ไม้ผลที่อยู่คู่ไทยมาช้านาน

คุณผู้ฟังครับกล้วยเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารและคุณประโยชน์มากมาย สามารถใช้ในการแปรรูปได้หลายรูปแบบครับ กล้วยมีมากมายหลายสายพันธุ์เหลือเกินครับ บางคนสามารถจำแนกได้  แต่บางคนก็จำแนกไม่ออก จึงเป็นปัญหาในการผลิตกล้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพราะบางครั้งผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้บริโภคครับ เช่น ต้องการผลิตกล้วยให้ได้ผลผลิตสูง เพื่อขายผลสดในการแปรรูปกล้วยทอด  กล้วยฉาบ   กล้วยกวน และต้องการกล้วยที่สามารถแปรรูปทำกล้วยตาก  กล้วยแผ่นอบให้ได้คุณภาพดีเนื้อนุ่ม  สีสวย ต้องการกล้วยขายผลสดที่ผลอ้วนกลมจูงใจผู้ซื้อ ต้องการกล้วยที่ผลิตแป้งกล้วยแล้วมีคุณภาพดี  เป็นต้นครับ

ส่วนปัญหาที่พบคือ ผลผลิตที่ออกในแต่ละแปลงมักไม่พร้อมกันเนื่องจากใช้หน่อพันธุ์ที่มีขนาดและอายุต่างกัน ที่มีทั้งหน่อขนาดใหญ่ซึ่งมีใบกว้างและหน่อขนาดเล็กซึ่งมีใบแคบ ทั้ง 2 ขนาดมีความแตกต่างกันในด้านการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตนะครับ ดังนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจึงแนะนำให้ใช้หน่อใบแคบเป็นหน่อปลูก เนื่องจากมีความแข็งแรงและให้ผลผลิตได้ดีกว่า และในการทดลองขนาดหน่อพันธุ์พบว่าขนาดของหน่อกล้วยไข่ที่แตกต่างกันทำให้ระยะการตกเครือต่างกันโดยหน่อขนาดใหญ่(3-4 กิโลกรัม)จะตกผลเร็วกว่าหน่อขนาดเล็ก(1-2 กิโลกรัม)ประมาณ 1 เดือน ทีเดียวเลยครับ

และอีกปัญหาหนึ่งก็คือ เกษตรกรยังไม่สามารถเข้าใจถึงเทคโนโลยีการผลิตกล้วยในเชิงการค้า เพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพของผลผลิตสูง รวมถึงความต้องการเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ซึ่งที่สถานีวิจัยปากช่องมีอยู่อย่างครบวงจรครับ เช่น เรื่องของพันธุ์ ลักษณะของพันธุ์ปลูก  การใช้ต้นปลูกจากต้นกล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การควบคุมการระบาดของโรคและแมลง การจัดการระบบน้ำ การคิดคำนวณต้นทุนการผลิตและผลตอบแทนทั้งระยะสั้นและระยะยาว การแปรรูปผลิตภัณฑ์  เป็นต้น ประกอบกับสถานีวิจัยปากช่องยังขาดรูปแบบ และวิธีการการถ่ายทอดงานวิจัยสู่ประชาชนที่มีประสิทธิภาพ ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่นะครับ

-เพลงคั่นรายการ-

กลับมาฟังกันต่อนะครับ คุณผู้ฟังครับ การจัดโครงการ การฝึกอบรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปกล้วยให้แก่เกษตรกรในครั้งนี้ หัวหน้าโครงการ คือ นางกัลยาณี สุวิทวัส จากสถานีวิจัยปากช่อง สถาบันอินทรีจันทรสถิตย์เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาพืชศาสตร์ จะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตได้อย่างครบวงจรครับ  โดยสถานีวิจัยปากช่องจัดฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรในเขตจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัด โดยคัดเลือกเกษตรกร และประชาชนผู้ที่สนใจเพื่อเข้าร่วมโครงการ จำนวน 150 คน เข้าอบรมรุ่นละ 75 คน (จัดแบ่งเป็น  2 กลุ่ม กลุ่มแรก(รุ่นที่ 1) เป็นเกษตรกรที่ทำสวนกล้วยและกำลังเริ่มทำ รวมถึงผู้นำชุมชน  กลุ่มที่ 2 (รุ่นที่ 2) เป็นเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่สนใจในเรื่องกล้วย)  โดยจัดอบรม ณ สถานีวิจัยปากช่อง  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมาครับ

หลังการฝึกอบรมโดยใช้แบบประเมินความพึงพอใจ   พบว่า   ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความพึงพอใจต่อความรู้ในหัวข้อต่างๆเป็นส่วนใหญ่ครับ ซึ่งแสดงว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น ส่วนการนำไปใช้หรือไม่นั้น ต้องติดตามผลหลังการฝึกอบรมโดยใช้ระยะเวลาติดตามผลหลังการฝึกอบรมแล้ว 5 เดือนครับ และการติดตามผลหลังการฝึกอบรม พบว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรมกลุ่มแรกได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนางานทางด้านกล้วย มากกว่าในกลุ่มที่ 2  และมีการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันดังนี้  งานทางด้านการผลิต  ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้นำไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาสวนกล้วยตามที่อบรม  และสวนกล้วยมีสภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังได้แนะนำต่อให้กับผู้อื่น  และได้นำต้นกล้วยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปทดลองปลูก ซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้วยครับ ส่วนงานทางด้านการแปรรูป  ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนำไปใช้ประโยชน์ 3 ทาง  ได้แก่  แปรรูปกล้วยไว้รับประทานในครอบครัว  แปรรูปเพื่อหารายได้  และเกษตรกรที่ไม่ได้แปรรูปก็ยังให้คำแนะนำแก่ผู้อื่นอีกด้วยครับ  ในการแปรรูปเพื่อหารายได้นั้นพบว่า ทำรายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น จากโครงการวิจัยดังกล่าว เป็นการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องการแปรรูปกล้วยแก่เกษตรในเขตจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้ ถึงแม้การปลูกดูแลกล้วยชาวเกษตรกรจะมีความรู้ ความชำนาญกันอยู่แล้ว แต่ในเรื่องการเพิ่มผลผลิต และเทคนิคต่างๆทางวิชาการ ทางสถานีวิจัยปากช่องได้เล็งเล็งความสำคัญในจุดนี้ และสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ต้องการให้หน่วยงานในพื้นที่มีกิจกรรมที่จะร่วมพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ คุณผู้ฟังครับ วันนี้กระผมขอจบรายการไว้เพียงเท่านี้ แล้วพบกับผลงานวิจัยที่น่าสนใจกันอีกในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ