100 ปี ฟาร์มบางเบิด จุดกำเนิดเกษตรสมัยใหม่ของประเทศไทย

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมงาน “100 ปี ฟาร์มบางเบิด จุดกำเนิดเกษตรสมัยใหม่ของประเทศไทย” ซึ่งภายในงานมีนิทรรศการ ด้านการเกษตรสมัยใหม่ อบรมเกษตรมูลค่าสูงสู่ความยั่งยืน ประกวด/แข่งขัน สู่การพัฒนาอาชีพ จำหน่ายสินค้าจากนวัตกรรมเกษตร ระหว่างวันที่ 1-5 กันยายน 2563 ณ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์

ทั้งนี้ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. มี Live สด ทาง Facebook ติดตามได้ใน เพจ kurdinews

https://www.facebook.com/watch/?v=317250156251773&extid=DzZ0z36s4T3TJLAw

https://www.facebook.com/watch/?v=645922772719368&extid=pDIf03xLpU4iVwkj

ประวัติหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

    หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 11 เมษายน 2426 เป็นโอรสองค์ที่ 4 ในพี่น้อง 7 องค์ พระบิดา คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ซึ่งเป็นโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมมารดา คือ หม่อมสุภาพ มีเชื้อสายทางมอญ
           หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ณ โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ อันถือเป็นโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงในสมัยนั้น และศึกษาต่อทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล ณ วิทยาลัยเทคนิคซิตี้แอนด์กิลด์ ด้วยเหตุจากทางบ้านประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร จึงต้องเสด็จกลับสยามก่อนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2444
           เมื่อเสด็จกลับสยามหม่อมเจ้าสิทธิพร เข้ารับราชการเป็นระยะเวลา 14 ปี ในช่วงระยะที่รับราชการนี้ ท่านได้สร้างความก้าวหน้าเป็นอันมากด้วยความรู้ทางวิศวกรรมที่ศึกษามา ท่านนำมาปรับใช้ในราชการจนสัมฤทธิ์ผลทั้งในกรมกษาปณ์สิทธิการ กรมฝิ่น ตำแหน่งราชการสูงสุดของท่าน คือ อธิบดีกรมฝิ่น ซึ่งกล่าวได้ว่าท่านเป็นอธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในสมัยนั้น ทั้งนี้ เพราะท่านสร้างความก้าวหน้าให้กับกรมฝิ่น ขนาดทำรายได้ให้แผ่นดินถึง 1 ใน 5 ของเงินแผ่นดินทั้งหมดก่อนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2444
           ระหว่างรับราชการในปี 2459 ท่านทรงเสกสมรสกับหม่อมศรีพรหมา หลังจากนั้น 5 ปี หม่อมเจ้าสิทธิพร ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเสด็จไปเริ่มชีวิตใหม่ที่ท้าทายพร้อมกับศรีภรรยาและลูกน้อยอีก 2 คน ณ ไร่บางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านเริ่มงานบุกเบิกการเกษตรแผนใหม่ โดยทรงตระหนักว่าในอนาคตระบบราชการไม่อาจรองรับคนหนุ่มสาวที่สำเร็จการศึกษาได้หมด ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนเหล่านี้ คือ การเกษตรแผนใหม่ ประกอบกับการเกษตรในสมัยนั้นใช้วิธีโบราณ ผลผลิตต่ำ ท่านปรารภว่า หากไม่มีการปรับปรุงการเกษตรในแผ่นดินสยามแล้ว อนาคตสยามอาจต้องพึ่งพืชผลจากต่างประเทศแทนการส่งออกและปัญหาด้านเศรษฐกิจจะตามมาึกษาเมื่อปี พ.ศ.2444
           ช่วงระยะเวลา 10 ปี แห่งการบุกเบิกในไร่บางเบิดนั้น ท่านใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อศึกษาทดลองการเกษตรด้วยพระองค์เอง ท่านปลูกพืชตามแนวระดับเพื่ออนุรักษ์หน้าดิน ท่านนำพันธุ์พืชใหม่ๆมาทดลองและสร้างชื่อเสียงให้กับฟาร์มบางเบิดที่ทุกคนรู้จักคือแตงโมพันธุ์ทอมวัตสัน ชาร์ลสตัน เกรย์ ทดลองปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยาสูบ ถั่งลิสง พืชผัก เช่น แคนตาลูป กะหล่ำปลี และพืชผักสวนครัว ในส่วนของสัตว์เลี้ยง เช่น เลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น หมู แพะ วัว และช้าง ซึ่งในสมัยท่านจะมีการจดบันทึกและทดลองในแต่ละพืชผักและในสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว พืชผักที่เหลือจากการใช้บริ๓คในครัวเรือนก็มีการแปรรูปถนอมอาหาร ในฟาร์มบางเบิดจึงเป็นที่มาของคำว่า ทั้งบ้านและไร่นา ซึ่งในสมัยนั้นรัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยทางเกษตรเลย ท่านจึงเผยแพร่ผลจากการทดลองลงในหนังสือพิมพ์ “กสิกร” ซึ่งท่านเป็นบรรณาธิการและเจ้าของ เสนอข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่ปิดบังอำพรางมุ่งเพื่อความรู้สำหรับกสิกรโดยไม่หวังผลทางการค้าและขณะเดียวกัน ได้เสนอบทความวิจารณ์บ้านเมืองอย่างกล้าหาญ
           เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำในปี 2474 สยามซึ่งพึ่งรายได้จากการขายข้าวเป็นหลักต้องพบกับความยุ่งยากตามที่หม่อมเจ้าสิทธิพรได้วิจารณ์ไว้แต่ต้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเรียกหม่อมเจ้าสิทธิพรให้กลับเข้ารับราชการเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและเปิดทางให้หม่อมเจ้าสิทธิพรนำความคิดมาทดลองปฏิบัติอย่างเต็มที่ แต่หม่อมเจ้าสิทธิพรกลับขอตั้งกรมเล็กๆ ขึ้นกรมหนึ่งชื่อ กรมตรวจกสิกรรม แทนที่จะเป็นปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตรข้าราชการกระทรวงใหญ่ดังพระประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในช่วงนี้ท่านได้ริเริ่มตั้งสถานีทดลองการเกษตรบนที่ดอนขึ้น 3 แห่ง คือ ที่แม่โจ้ เชียงใหม่ ที่โนนสูง นครราชสีมา และที่ควนเนียง สงขลา
           ปี 2476 ท่านจึงเข้าร่วมกับพระองค์เจ้าบวรเดช พี่ชายของท่านก่อการกบฏขึ้น แต่การณ์ครั้งนี้ล้มเหลว ท่านไม่ยอมหนีกลับเผชิญหน้ากับความจริงอย่างกล้าหาญ ท่านถูกคุมขังอยู่นานถึง 11 ปี นับแต่บางขวาง เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า ในช่วงระยะเวลา 11 ปี อันยาวนานนี้ท่านยังคงศึกษาทดลองการเกษตรต่อจนตั้งโรงเรียนสอนการเกษตรขึ้นในบางขวาง ท่านได้รวบรวมคำบรรยายจากการสอนเป็นหนังสือ “กสิกรรมบนดอน” ขณะที่หม่อมเจ้าสิทธิพรถูกคุมขังอยู่นี้ การทดลองการเกษตรในไร่บางเบิดก็ยังคงดำเนินควบคู่ไปด้วยโดยมีหม่อมศรีพรหมาเป็นผู้ดูแลและทดลองตามคำแนะนำของหม่อมเจ้าสิทธิพร ซึ่งติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายโดยมิได้ขาด
           เมื่อหม่อมเจ้าสิทธิพร ได้รับอิสรภาพในปี 2487 ท่านมีพระชนม์กว่า 60 พรรษาแล้ว ท่านเสด็จกลับบางเบิดด้วยพระวรกายที่บอบบางและขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่กิจกรรมของท่านไม่หยุดลง ท่านกลับทำเพื่อชาวไร่ชาวนามากขึ้น ท่านเห็นว่าเกษตรกรยากจนลงและถูกเอาเปรียบมากขึ้น รัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาของเกษตรกร ท่านจึงเข้าต่อสู้ทางการเมืองโดยการสมัครเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนติดต่อกันถึง 2 สมัย คือ ในปี 2490 และปี 2491 และท่านได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรสมัยรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ท่านนำปัญหาของเกษตรกรเข้าสู่รัฐสภาและโต้ตอบกับผู้ขัดแย้งอย่างจริงจัง แต่รัฐบาลที่ท่านเข้าร่วมนี้อยู่ได้ไม่นานก็ถูกจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำการรัฐประหาร รัฐบาลทหารได้ทาบทามให้ท่านเข้าร่วมเป็นรัฐบาลต่อ แต่ท่านกลับปฏิเสธตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ด้วยเห็นว่าเป็นรัฐบาลทหารไม่ได้มาจากวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
           ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต ท่านสิทธิพรทั้งชราและยากจนลงมากเกินกว่าจะดูแลรักษาไร่บางเบิดซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง 250 ไร่ ให้มีสภาพคงเดิมได้ ท่านจึงตัดสินใจขายไร่บางเบิดให้กับรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่านนำเงินที่มีอยู่จาการขายไร่นี้ไปซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ที่หัวหินเพื่อทำการทดลองการเกษตรต่อไปจนได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ ปี 2510 เงินรางวัลจำนวน 2 แสนกว่าบาทที่ได้รับมานี้ก็หมดไปกับโครงการและการทดลอง และในปีเดียวกันนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขากสิกรรมและสัตวบาล
           ช่วงปลายสุดแห่งชีวิตท่านนี้ ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องปุ๋ยมาก ท่านเห็นว่าปุ๋ยจะเป็นปัญหาใหญ่ของเกษตรกรไทยในอนาคต ท่านทดลองหาสูตรปุ๋ยที่เหมาะแก่ประเทศไทยและพยายามสรุปผลเพื่อเผยแพร่แก่ชาวไร่ชาวนา ท่านทำจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของท่านมาถึง
           หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ถึงชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2514 รวมพระชนมายุได้ 88 พรรษา

“เงินทองเป็นมายา ข้าวปลาเป็นของจริง”

           วลีของ ม.จ.สิทธิพร กฤดากร นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของไทย รุ่นสมัยรัชกาลที่ 6 และที่ 7 และเป็นผู้บุกเบิกตำนาน “แตงโมบางเบิด” และเกษตรกรรมสมัยใหม่ จึงสอนผู้สนใจวิชาเศรษฐศาสตร์และเตือนใจนักเศรษฐศาสตร์ในเรื่องความเป็นจริงได้เป็นอย่างดี (วรากรณ์ สามโกเศศ , มติชนรายวัน, 10 สิงหาคม 2543)