กระดาษทำมือด้วยแป้งข้าว
ประเทศไทยมีการผลิตกระดาษหัตถกรรมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยใช้เปลือกไม้ เช่น เปลือกปอสา เปลือกข่อย และอื่นๆ เป็นวัตถุดิบ กระดาษทีได้มีคุณภาพไม่ดี เสื่อมสภาพเร็ว ฉีกขาดง่าย เปื่อย และถูกทำลายได้ง่าย ต่อมาได้พัฒนากระดาษให้มีคุณภาพดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยงานราชการได้เข้าไปส่งเสริม และให้คำแนะนำวิธีการคัดเลือกวัตถุดิบ การผลิตเยื่อ และการทำแผ่นกระดาษโดยเฉพาะการผลิตกกระดาษสา เนื่องจากเป็นเยื่อที่ดีเหมาะต่อการทำกระดาษเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ผลิตภัณฑ์จากกระดาษหัตถกรรมนี้ในแต่ละปีสามารถทำรายได้ให้กับประเทศปีละไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ลักษณะของการผลิตมี 3 รูปแบบ คือการผลิตในระดับครัวเรือน ผู้ประกอบการขนาดกลาง และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ทำให้การผลิตกระดาษขยายตัวมากยิ่งขึ้น จนทำให้ขาดวัตถุดิบหลักที่ใช้จึงหันมาใช้วัตถุดิบอื่นๆ เช่น ใบสับปะรด ชานอ้อย ฟางข้าว ผักตบชวา และอื่นๆ การใช้เยื่อดังกล่าวมาผสมในกระดาษสา หรือทำกระดาษโดยตรงจะส่งผลให้กระดาษที่ได้มีคุณภาพลดลงโดยเฉพาะความแข็งแรงของกระดาษ การปรับปรุงให้กระดาษมีความแข็งแรงเพิ่มขึ้นสามารถทำได้โดยใช้แป้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียวมาทำเป็นกาวเคลือบกระดาษ เพื่อปรับปรุงสมบัติเชิงกลของกระดาษให้ดีขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ได้ผลิตกระดาษให้สามารถเตรียมกาวจากแป้งข้าวที่มีอยู่ในท้องถิ่นนำมาใช้ และสามารถใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ตามความต้องการของตลาด
ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
คุณวุฒินันท์ คงทัด
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร
โทร. 0-2942-8600-3
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบจาก
คุณวุฒินันท์ คงทัด
ผลิตสื่อโดยฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย