สวพ.มก. ขอเชิญส่งผลงานวิจัยเพื่อขอรับรางวัลผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ. 2563

 


หลักเกณฑ์การสมัครขอรับการพิจารณารางวัลผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2563

การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพ และผลสำเร็จของการวิจัยที่สำคัญ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนอาจารย์ นักวิจัย ในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ จึงได้จัดให้มีการพิจารณารางวัลผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2563 เพื่อสร้างแรงจูงใจแก่อาจารย์ นักวิจัยในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และเพื่อสร้างวัฒนธรรมการทำวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ และมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยวิจัย โดยมีหลักเกณฑ์การให้รางวัล ดังนี้

คุณสมบัติของผู้รับรางวัล
  1. เป็นข้าราชการหรือพนักงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หรือดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิภายหลังเกษียณอายุ ซึ่งมีการแต่งตั้งโดยส่วนงานของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และขึ้นทะเบียนนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ วันเวลา ที่เสนอตีพิมพ์ผลงานวิจัย หรือนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
  2. ผลงานวิจัยต้องระบุ “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์” เป็นหน่วยงานสังกัด
เกณฑ์การพิจารณารางวัลที่สร้างผลกระทบ

ผลงานวิจัยที่ใช้พิจารณา

เป็นผลงานวิจัยที่มาจากโครงการวิจัยที่ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากแหล่งทุนต่างๆ หรือผลงานที่มีหลักฐานชัดเจนว่าผ่านกระบวนการวิจัย ทั้งนี้ต้องเป็นงานวิจัยที่ดำเนินการมาภายในเวลาไม่เกิน 12 ปี นับจากปีที่พิจารณารางวัล (ตั้งแต่ พ.ศ. 2552 – ปัจจุบัน) และนักวิจัยได้กรอกข้อมูลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในฐานข้อมูลงานวิจัยและงานสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. เป็นผู้จัดทำ

เกณฑ์การให้คะแนน

  1. เป็นผลงานวิจัยที่มีคุณค่าทางวิชาการ
  2. เป็นผลงานวิจัยที่มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างชัดเจนและต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
  3. เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ/สังคม/สิ่งแวดล้อม โดยมีหลักฐานแสดงชัดเจน

ทั้งนี้การใช้ประโยชน์และข้อมูลผลกระทบต้องภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากปีที่พิจารณารางวัล

การให้รางวัล

พิจารณารางวัลตามระดับผลกระทบ เป็น 3 ระดับ คือ

  1. รางวัล Platinum ผลงานวิจัยที่ทรงคุณค่าสร้างผลกระทบระดับสูงสุด จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท
  2. รางวัล Gold ผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบระดับสูงมาก จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท
  3. รางวัล Silver ผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบระดับสูง จะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท

ทั้งนี้ จำนวนรางวัลพิจารณาตามความเหมาะสมของผลงานวิจัยที่เสนอรับการพิจารณา

การสมัครขอรับการพิจารณารางวัล

รางวัลผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบ ต้องเป็นการสมัครขอรับรางวัล โดยดำเนินการ ดังนี้

  1. กรอกใบสมัครด้วยการพิมพ์ ส่งต้นฉบับเสนอคณะกรรมการฯ ภายในวันที่  24 สิงหาคม 2563
  2. ส่งไฟล์ใบสมัครในรูปอิเล็กทรอนิกส์ไฟล์ .docx ไปที่ E-mail: rdirdk@ku.ac.th
  3. กรอกข้อมูลตามหัวข้อที่กำหนดตามใบสมัครขอรับการพิจารณา ความยาวไม่เกิน 10 หน้ากระดาษ A4 โดยผลงานที่ผ่านการพิจารณาจะต้องนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการฯ โดยใช้เวลาในการนำเสนอไม่เกิน 10 นาที (นำเสนอด้วยตนเองหรือผู้แทน) โดยกำหนดการจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง
  4. หากผลงานวิจัยเคยได้รับรางวัลมาแล้ว ต้องแสดงหลักฐานการเกิดผลกระทบเพิ่มเติมจากรางวัล ที่เคยได้รับเพื่อสมัครรับรางวัลในระดับที่สูงขึ้น
  5. สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก. จะจัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การประเมินผลกระทบจากงานวิจัยให้กับผู้สมัครเข้ารับการพิจารณารางวัล ในวันที่ 20 สิงหาคม 2563 เพื่อนำผลการวิเคราะห์ผลกระทบมาใช้ประกอบการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ

การพิจารณารางวัล

การดำเนินการพิจารณารางวัล ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการ โดยอยู่ภายใต้ดุลพินิจของคณะกรรมการพิจารณารางวัลผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประสานงานวิจัยและประเมินผล (บริหารงานวิจัยฯ)

สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โทร. 0-2579-5547 สายใน 611457, 611796
E-mail: rdirdk@ku.ac.th, rdibsy@ku.ac.th