อุปกรณ์ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตบนโต๊ะอาหารสำหรับผู้สูงอายุ

ผลงานนวัตกรรมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมพันฒนากับนักออกแบบ พยาบาลวิชาชีพ นักกายภาพบำบัด และนักอาชีวบำบัด เป็นเวลากว่า 3 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความภาคภูมิใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเองด้วยการพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการใช้อุปกรณ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่มีราคาไม่แพง น้ำหนักเบา กระชับมือ และมีความสวยงาม ปลอดภัย

วัสดุที่ใช้ประกอบด้วยพีพีหรือพลาสติกเบอร์ 2 ที่สามารถรีไซเคิลได้ ทำให้มีราคาถูก มีน้ำหนักเบากว่าเมลามินประมาณ 4-5 เท่า ส่วนภาชนะที่ใช้ใส่อาหารอย่างถ้วยหรือจาน ยังจำเป็นต้องใช้เมลามินอยู่ เนื่องจากต้องการความหนัก และป้องกันไม่ให้อาหารไหลออกนอกภาชนะ 

หลักการออกแบบ
1. จานสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

มีความลาดเอียงที่ก้นจาน เพื่อให้อาหารไหลลงไปด้านที่ลึกกว่า ขอบจานจะเอียงเช่นกัน แต่เป็นด้านตรงข้ามกับส่วนที่ลึกของก้นจาน เพื่อความสะดวกต่อการตักอาหาร ก้นจานออกแบบให้มีส่วนยื่นออกทางด้านข้าง เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกสามารถใช้มือ/แขนที่ไม่ได้จับช้อนช่วยประคองจานให้อยู่กับที่ในขณะทานอาหาร จานอาหารมีขนาดกว้าง 23 x 20 x สูง 3.8 เซนติเมตร

2. ถ้วยซุปสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

ถ้วยอาหารมีความลาดเอียงที่ก้นถ้วย เพื่อให้ซุปไหลไปด้านที่ลึกกว่า ขอบถ้วยจะเอียงเช่นกัน แต่เป็นด้านตรงข้ามกับส่วนที่ลึกของก้นถ้วย เพื่อสะดวกต่อการตักอาหาร เนื่องจากถ้วยมีความสูงกว่าจานและมีขอบที่ยื่นออกเล็กน้อย จึงทำให้ผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกสามารถใช้แขนที่ไม่ได้ถือช้อนประคองให้ถ้วยอยู่กับที่ได้ ถ้วยซุปมีขนาดสูง 4 x กว้าง 15 x หนา 0.2 x ลึก 3 เซนติเมตร

3. แก้วน้ำสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

แก้วน้ำจะมีความสูงกว่าปกติเพื่อให้รองรับกับขนาดของมือ แต่ภายในก้นแก้วจะสูงขึ้นเพื่อลดปริมาณน้ำในแก้วไม่ให้มากเกินไป เพื่อป้องกันการสำลัก และออกแบบให้ขอบแก้วด้านบนมีส่วนยื่น เพื่อช่วยพยุงทำให้อุ้งมือสามารถพยุงแก้วได้ง่ายและกระชับขึ้น โดยตัวแก้วไม่มีรอยเว้า เพื่อแก้ปัญหาการจับแก้วผิดด้าน

4. ช้อน (มือขวา) สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

ด้ามช้อนมีขนาดใหญ่กว่าช้อนปกติ เพื่อความสะดวกในการจับและกำ (การกางของนิ้วมือ) ให้สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อช่วงกลาง  ซึ่งเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อทำงานได้ประสิทธิภาพสูงสุด ส่วนตัวช้อนและด้ามช้อนมีโค้งหักมุม เพื่อให้สะดวกต่อการตักอาหารเข้าปากและลดการเหยียดของไหล่ สะบักและข้อศอก นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบา ปริมาณความจุของช้อนอยู่ที่ 5 ml. เพื่อป้องกันการตักอาหารมากเกินไป อาจเกิดความเสี่ยงต่อการสำลักได้ ด้านช้อนจะโค้งตัวสูงขึ้นเพื่อป้องกันการไหลของอาหารมาที่มือผู้ใช้

รางวัลที่ได้รับ

สำหรับผลงานการออกแบบช้อนได้รับรางวัลมาแล้ว 2 รางวัล ได้แก่ รางวัล Design Excellence Award (DEmark) 2019, ประเทศไทย และ รางวัล GOOD DESIGN AWARD (GMark) 2019, ประเทศญี่ปุ่น

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต
ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-mail: archsit@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail : rdityt@ku.ac.th