ไผ่ลูกผสมสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก

นายสราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีมผู้เชี่ยวชาญไผ่จากหลายองค์กร ได้แก่ Dr. Weilim Goh  Mr. Kok Sim Chan  และ Mrs. Yi Xian How จาก Universiti Tunku Abdul Rahman ประเทศมาเลเซีย  ดร. อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  Dr. Dieter Ohrnberger ผู้เชี่ยวชาญไผ่ของโลก ผู้เขียนหนังสือ The bamboos of the world และ Dr. Khoon Meng Wong จากสวนพฤกษศาสตร์สิงคโปร์ ประเทศสิงค์โปร์ ได้ร่วมกันศึกษาไผ่เลี้ยง [ซึ่งเดิมคาดว่าเป็นลูกผสม (hybrid) และได้มีการศึกษาในเบื้องต้นไว้ก่อนแล้ว โดย ดร. จักรพงษ์ รัตนมณี จากคณะเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตสระแก้ว] โดยใช้เครื่องมือทางด้านชีววิทยาโมเลกุล ผลการศึกษาพบว่าไผ่เลี้ยงนั้นแท้จริงแล้วเป็นลูกผสมจากไผ่ต่างสกุลกัน (Intergeneric hybrid)

คือระหว่างสกุล Thyrsostachys และสกุล Dendrocalamus โดยเป็นลูกผสมระหว่างไผ่รวก (Thyrsostachys siamensis Gamble) และไผ่ซางนวล (Dendrocalamus membranaceus Munro) ซึ่งนับเป็นการค้นพบลูกผสมของไผ่ระหว่าง 2 สกุลนี้เป็นครั้งแรกของโลก จึงได้ทำการตั้งชื่อสกุลของลูกผสมสกุลใหม่ (nothogen. nov.) นี้ว่า ×Thyrsocalamus Sungkaew & W.L. Goh และมีชนิดของลูกผสมชนิดใหม่ (nothosp. nov.) ชื่อว่า ×Thyrsocalamus liang Sungkaew & W.L. Goh โดยคำระบุชนิด (specific epithet) ว่า “liang” มาจากภาษาไทยที่มักใช้เรียกไผ่ชนิดนี้ว่าไผ่ “เลี้ยง” ผลงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชื่อ Phytotaxa เมื่อ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 (DOI: http://dx.doi.org/10.11646/phytotaxa.362.3.3)

          แต่เดิมมักมีการใส่ชื่อพฤกษศาสตร์ให้กับไผ่เลี้ยงกันแบบผิดๆ เช่นใช้ชื่อว่า Bambusa nana Roxb. หรือ Bambusa multiplex (Lour.) Raeusch. ex Schult. เป็นต้น ทำให้เกิดความสับสนและ/หรือสื่อสารกันผิดไปในเชิงวิชาการ  ตัวอย่างเช่นหากมีการศึกษาวิจัยที่มีการใช้ไผ่เลี้ยงเป็นวัสดุในการศึกษา (material) เมื่อมีผลการศึกษาออกมาและมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยออกไปโดยใช้ชื่อพฤกษศาสตร์กันแบบผิดๆให้กับไผ่เลี้ยง ผลเสียหายที่ตามมาเช่น หากมีคนอื่นต้องการทำการศึกษาวิจัยแบบเดียวกันบ้างเพื่อพิสูจน์ว่าถูกต้องหรือไม่ หรือศึกษาทางด้านอื่นๆที่แตกต่างกันออกไป แต่ไปหยิบวัสดุในการศึกษาที่เป็นชนิด Bambusa nana หรือ Bambusa multiplex ที่ถูกต้องจริงๆมาใช้ ผลการศึกษาที่ได้ก็จะไม่ตรงกับที่มีการศึกษาไว้ก่อน หรือไม่ได้ผลตามที่ตั้งสมมุติฐานเอาไว้ และมักจะส่งผลต่อเนื่องให้มีการตีความหรือนำเสนอผลการศึกษาในมุมมองที่มีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนกันต่อไปอีก

          ดังนั้นผลการศึกษาเรื่องไผ่เลี้ยงในครั้งนี้จะทำให้ความเข้าใจที่สับสนหรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับไผ่เลี้ยงหมดไปได้

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
รศ.ดร. สราวุธ สังข์แก้ว และคณะผู้วิจัย
ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
E-mail: fforsws@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail : rdityt@ku.ac.th