เสวนาพิเศษ “นวัตกรรมสร้างสรรค์ไทยเพื่อเป้าหมายในการพัฒนา” ในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 58
Startups คือธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน (Technology base) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงการทำธุรกิจให้เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด สามารถสร้างรายได้จำนวนมาก เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมหรืออาจเป็นธุรกิจการบริการ ธุรกิจ Startups ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจด้านไอที (IT, Information Technology) เช่นพวกแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้แก่ แอปพลิเคชั่น Grab หรือ Uber ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นการเรียกรถ แอปพลิเคชั่น Airbnb ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นการจองห้องพัก การสร้างหุ่นยนต์เพื่อกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
การสร้างนวัตกรรมจะต้องประกอบด้วย องค์ความรู้ (Knowledge) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และผลิตภัณฑ์ที่ได้จะต้องมีคุณค่า (value) ทางเศรษฐกิจหรือทางสังคม นวัตกรรมอาจไม่ได้มีที่มาจากงานวิจัยที่ยิ่งใหญ่
การทำธุรกิจ Startups จะต้องทำ Business model ที่ใช้ได้จริง ต้องกล้าคิด กล้าทำ โดยไม่เกรงกลัวต่อความล้มเหลว และเมื่อเกิดความล้มเหลวจะต้องพลิกผันกลับมาอย่างรวดเร็ว การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมต้องดูความต้องการด้านการตลาด จะต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและมีความจำเป็น ปัจจุบันแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกคือด้าน ปัญญาประดิษฐ์ (AI, Artificial intelligence) การออกแบบหุ่นยนต์ (Robotics) การดูแลสุขภาพ (Healthcare) และ การท่องเที่ยว (Tourism) โจทย์ที่ดีในการสร้างผลิตภัณฑ์จะได้มาจากการที่คนที่มีความรู้ความสามารถจากสาขาวิชาที่แตกต่างกันมีโอกาสมาพบกันเพื่อสร้างโจทย์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่การให้แพทย์และวิศวกรได้สร้างโจทย์ร่วมกันในการสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์ที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ เมื่อสร้างผลิตภัณฑ์ขึ้นมาแล้วจะต้องทำให้ผลิตภัณฑ์ที่สร้างขึ้นนี้มีผู้มาลงทุน การทำ Startup เป็นธุรกิจที่ทำคนเดียวไม่ได้ จะต้องมีผู้นำและทีมงานที่ดี และได้รับการสนับสนุนด้านการเงินการลงทุน
การสนับสนุนด้านการเงินการลงทุนในธุรกิจ Startups จะต้องทำให้ผู้คิดผลิตภัณฑ์ได้พบกับนักลงทุน (Investor) ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการลงทุนได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA, National Innovation Agency) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI, Board of Investment)
การทำ Startup ให้ยั่งยืน จะต้องให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณค่าในตัวเอง (คือสามารถขายได้) ผลิตภัณฑ์และบริการจะต้องปรับเปลี่ยนหมุนเวียนได้อย่างรวดเร็ว นอกจากผลิตภัณฑ์จะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้ว อาจมีบางผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางสังคมก็จะมีสปอนเซอร์มาสนับสนุนเพื่อทำโครงการ Corporate social responsibility (CSR) ของผู้สนับสนุนด้วย
บทเรียนที่ได้จากการทำ Startups ได้แก่ผู้สร้างผลิตภัณฑ์จะต้องสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีค่าในตัวมันเองคือสามารถนำผลิตภัณฑ์นั้นมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ ผู้คิดสร้างผลิตภัณฑ์ควรคิดในสิ่งที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีผู้คิดหรือทำไว้แล้ว และเป็นที่ต้องการของสังคมในปัจจุบันอย่างมาก ได้แก่การสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองผู้สูงอายุที่มีมากขึ้นในสังคมไทย การสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการรักษาผู้ป่วยเพื่อลดจำนวนคนที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เป็นต้น ผลิตภัณฑ์จะต้องได้รับการพัฒนาให้ถึงที่สุด และธุรกิจ Startups นี้มีเพียงบางรายเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ
เสวนาพิเศษ เรื่องนวัตกรรมสร้างสรรค์ไทยเพื่อเป้าหมายในการพัฒนา
Inno-creative Thailand for Sustainable Development Goals
(SDGs): Lessons Learned from startups) สาขาเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ
ในการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 58 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุมละอองฟ้า อาคารอมรภูมิรัตน
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นุษรา สินบัวทอง
ผู้สรุปการเสวนา