อภิปรายพิเศษ เรื่อง “วิกฤตขยะทะเลไทย” (Marine debris crisis) ในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 58

                 ความต้องการใช้พลาสติกในสังคมปัจจุบันมีความต้องการแปรผันตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและมีการใช้ตลอดเวลา จึงไม่สามารถหยุดการใช้พลาสติกได้ ประกอบกับในผลิตภัณฑ์ต่างๆล้วนมีส่วนผสมของพลาสติกทั้งสิ้น ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้การใช้พลาสติกเกิดประโยชน์สูงสุด และลดในส่วนที่ไม่จำเป็นลง  ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีใดที่รับผิดชอบพฤติกรรมมนุษย์ได้ มนุษย์เราจะต้องปรับพฤติกรรมในการใช้พลาสติก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อนการทิ้งเป็นขยะ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลเป็นอันดับ 5 ของโลก ซึ่งขยะจากทะเล 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากพื้นดิน และคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า (ปีค.ศ. 2050) ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลจะมีปริมาณมากกว่าสัตว์ในทะเล ขยะพลาสติกและ/หรือไมโครพลาสติก (Microplastics) เหล่านี้เมื่อลงสู่ทะเลแล้วไม่สามารถจำกัดพื้นที่ได้ สามารถแพร่กระจายไปได้หมดตามแรงลมและกระแสน้ำ แม้กระทั่งเกาะเหนือสุดของโลกที่ขั้วโลกเหนือ ยังพบขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่

                 พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือ Single use เป็นองค์ประกอบของพลาสติกที่มีสัดส่วนมากที่สุดในขยะทะเล ทางรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย มีนโยบายในการจัดการขยะพลาสติก โดยมีเป้าหมายลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบ Single use ที่พบมากและก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม รวม 7 ชนิด

ปี 2562 ได้แก่ พลาสติกหุ้มขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประกอบอ๊อกโซ่ (Oxo) ไมโครบีดจากพลาสติก (Microbead)

ปี 2565 ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 มิลลิเมตร กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติก ชนิดบาง (ใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีการบริหารจัดการขยะทะเล ดังนี้

  1. เก็บขยะที่ตกค้างในระบบนิเวศสำคัญ โดยมีขั้นตอน คือ จัดเก็บ คัดแยก และนำไปจัดการ ซึ่งมีแนวทางการจัดเก็บขยะจากต้นทางถึงปลายทาง ดังนี้
  • ต้นทาง ด้วยตาข่ายดักขยะ (Net)
  • กลางทาง ด้วยทุ่นกักขยะ (Boom)
  • ปลายทาง ด้วยเรือเก็บขยะ (Boat)
  • ทะเลและชายฝั่ง ด้วยการจัดเก็บแบบมีส่วนร่วม
  1. ใช้มาตรการลดปริมาณขยะลงสู่ทะเลในกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ชมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการร้านค้า เรือประมงทั้งเรือพื้นบ้านและเรือพาณิชย์ และผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว เป็นต้น
  2. การศึกษาวิจัยทางทะเล ทั้งปริมาณ ชนิด และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะทะเล ยกตัวอย่างเช่น
  • ศึกษาขยะปากแม่น้ำอ่าวไทยตอนบน
  • ศึกษาผลกระทบขยะทะเลต่อระบบนิเวศปะการัง
  • ศึกษาผลกระทบขยะทะเลต่อระบบนิเวศชายฝั่ง
  • ศึกษาผลกระทบขยะทะเลต่อสัตว์ทะเลหายาก
  • ศึกษาวิจัยไมโครพลาสติก

                 ข้อมูลการจัดการขยะทะเลไทยอย่างยั่งยืนด้วยโครงการขยะคืนฝั่ง ทะเลสวย ด้วยมือเรา จากกรมประมง ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดการขยะจากกิจกรรมประมงซึ่งมีมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของขยะทะเลทั้งหมด ขยะดังกล่าวเกิดจากการที่เรือนำลงไปและจากเครื่องมือทำประมง โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ สมาคมประมง คนประจำเรือ ผู้ควบคุมเรือและเจ้าของเรือประมง ให้เกิดการปรับความคิด เปลี่ยนพฤติกรรม และพฤติกรรมเลียนแบบ ในการจัดการการกำจัดและลดขยะทะเลจากการทำประมง  โดยมีการจัดตั้งศูนย์ PIPO (Port In and Port Out Control Center) เป็นศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งควบคุมการทำประมงทางทะเลทั้งหมด โดยเรือประมงและเครื่องมือทำประมงต้องถูกต้อง และได้มาตรฐานที่กำหนด คนประจำเรือประมงต้องถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ มีการจัดการให้มีสวัสดิการ น้ำ อาหารและยาที่ได้มาตรฐาน และมีการควบคุม รายงานจดบันทึกปริมาณสิ่งของต่างๆในการนำเข้าและออกทะเลจากเรือประมงที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีการจดทะเบียนท่าเทียบเรือ 1,436 ท่า และเรือประมงพาณิชย์ 6,248 ลำ ซึ่งจะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการขยะ ปริมาณการนำเข้าและออก และการเกิดขยะทะเลของเรือแต่ละลำที่เข้าร่วมโครงการ

                 หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง นักวิชาการ และนักวิจัย ควรต้องร่วมมือกันในการวิจัยเพื่อการจัดการขยะ การลดการใช้พลาสติก และการกำจัดขยะ ทั้งขยะขนาดใหญ่ และไมโครพลาสติกที่เป็นปัญหาใหญ่ของสัตว์ทะเล และระบบนิเวศชายฝั่งและทะเล แต่อย่างไรแล้วมนุษย์ซึ่งเป็นทั้งผู้ใช้พลาสติกที่ทำให้เกิดขยะ และผู้ได้รับผลกระทบทั้งจากระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สัตว์ทะเลและผลิตภัณฑ์จากทะเล จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีคิดเพื่อลดขยะที่กำลังล้นโลก รู้จักคิด รู้จักใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อภิปรายพิเศษ เรื่อง “วิกฤตขยะทะเลไทย” (Marine debris crisis)
วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9.00-12.00 น.
ณ ห้องประชุมกำพล อดุลย์วิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

วิรัชนีย์ แก่นแสนดี
ผู้สรุปการอภิปราย