เสวนาพิเศษ สาขาพืช เรื่อง “นวัตกรรมการเกษตรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” “AGRICULTURAL INNOVATION FOR SUSTAINABLE DEVELOPMENT” ในงานประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 58
นวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคณะเกษตรมหาวิทยาลัยเกษตรร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (National Innovation Agency, NIA) หรือศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center, ABC Center) โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจาก Plant Factory Consortium (Thailand) และ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณกฤษณะ ธรรมวิมล ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทวังรีเฮลท์แฟคตอรี่ จำกัด และคุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยมี รศ.ดร. ธรรมศักดิ์ ทองเกตุ เป็นผู้ดำเนินรายการ
กรณีศึกษานวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกรณีศึกษานี้จะเป็นการปลูกและแปรรูปดอกดาวเรืองปลอดสารเคมีครบวงจร โดยมีคุณนฤดี ทองวัตร ประธานวิสาหกิจชุมชนดาวเรืองภูเรือ จ.เลย ผศ.ดร.เบญญา มะโนมัย อาจารย์ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และดร.วาลุกา พลายงาม อาจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โดยมีคุณสิริพัฒน์ ชนะกุล นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.กริชผกา บุญเฟื้อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้กล่าวแนะนำสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) ภารกิจหลัก คือ การยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายวิสาหกิจเครือข่ายวิชาการอย่างมีบูรณาการ อันจะนำไปสู่การสร้างให้เกิด “ระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งนำไปสู่การยกระดับศักยภาพการแข่งขันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งการให้ทุนวัตกรรมเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและอบรมผู้ประกอบการจะต้องเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ เช่นในภาคเกษตรจึงได้เกิดศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรโดยเน้น การให้ความรู้ (grooming) การให้เงินทุน (grant) และเน้นให้ธุรกิจเติบโตไปได้ (growth) จากนโยบาย Thailand 4.0 เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (smart farming) คือการทำการเกษตรที่นำเอาระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการดูแลการเพาะปลูก รวมไปถึงกระบวนการผลิต จากการเสวนาในครั้งจะได้รับประโยชน์ที่จะทำให้ได้รับแรงบันดาลใจซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาและสามารถนำไปต่อยอดได้ สำหรับการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่สำหรับนวัตกรรมการเกษตรใน 7 สาขาธุรกิจ ได้แก่
- สาขาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ
- สาขาธุรกิจเกษตรดิจิตัล
- สาขาธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
- สาขาธุรกิจการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง
- สาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่
- สาขาธุรกิจการบริการทางธุรกิจเกษตร
- สาขาธุรกิจรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเน้นการวิจัยในทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจเน้นการให้ทุนด้าน การเก็บรวบรวมข้อมูลด้านการเกษตรเพื่อนำมาพัฒนาเครื่องมือ การผลิตพืชโดยใช้ระบบปิดการใช้แสงเทียม (plant factory) เน้นการใช้เครื่องจักรกล (โดรน) เป็นหลัก เน้นการใช้เทคโนโลยี และการบริการด้านการเกษตร
ในด้านการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่สามารถแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มีการพัฒนาเครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้ามาช่วยในการทำรถปลูกข้าวนอกจากข้าวแล้วยังสามารถใช้ปลูกพืชอื่นได้ด้วย พัฒนาเครื่องโรยเมล็ด พัฒนาเครื่องกำจัดวัชพืชเนื่องจากการแบน 3 สารของรัฐบาล พัฒนาเครื่องให้น้ำ ปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ในระบบการผลิตพืชอินทรีย์และเครื่องเก็บผลผลิตอัตโนมัติ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องกระจายไปสู่ชุมชนเกษตรกรต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคโดยมีศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนสู่อาชีวและการเปิดเผยข้อมูลเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมโดยมีศูนย์บริการแก้ไขและซ่อมแซมได้ด้วยตัวเอง
การปลูกผักในโรงเรือนระบบปิดหรือโรงเรือนอัจฉริยะ (plant factory) ที่วังรี จ.นครนายก โดยใช้ระบบแสงเทียมโดยใช้หลอด LED ได้รับทุนจาก NIA ในระบบโรงเรือนเน้นการผลิตต่อหน่วยพืชที่ให้ได้จำนวนมากและให้ได้ต้นทุนราคาถูกในระดับ Economic of scale ซึ่งราคาของผักที่ได้นี้เทียบเท่ากับผัก organic ในปัจจุบัน ซึ่งเน้นการปลูกผักกินใบขายให้กับชุมชนโรงเรียนและโรงพยาบาลซึ่งผู้บริโภคจะได้รับประทานผักสดปลอดสารเคมี และได้นำระบบนี้ไปสู่ชุมชนที่วัดพระบาทน้ำพุได้จัดตั้ง plant factory เพื่อสร้างระบบ Ecosystem เพื่อรองรับเด็กกำพร้าที่เพิ่มมากขึ้นและยังสามารถส่งขายเป็นรายได้ให้กับทางวัดอีกทางหนึ่ง นับว่า plant factory ของวังรีเป็นระบบที่น่าสนใจซึ่งมีชาวต่างชาติมาดูงานหลายประเทศ ซึ่งเน้นการใช้วัสดุในประเทศและราคาไม่แพง ปลูกให้ได้จำนวนต้นมากต่อพื้นที่ที่จำกัด 50,000 ต้นต่อเดือน ต่อการลงทุนโรงเรือน 3 ล้านบาท ซึ่งปกติ ต้องใช้พื้นที่ 10 ไร่ และประเทศไทยมีปัญหาเรื่องภัยแล้งการปลูกผักในระบบ plant factory จึงช่วยแก้ปัญหานี้เพราะไม่ขึ้นกับสภาพแวดล้อมภายนอก สามารถลดการใช้น้ำลงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์
กรณีศึกษานวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยกรณีศึกษานี้จะเป็นการปลูกและแปรรูปดอกดาวเรืองปลอดสารเคมีครบวงจร ซึ่งเป็นการนำงานวิจัยมาใช้ในการผลิตพืชจริงโดยจากงานวิจัยของ ผศ.ดร.เบญญา มะโนมัย ที่วิจัยเรื่องการเพิ่มสารสำคัญของดอกดาวเรืองโดยการเพิ่มแสงสีแดงในโรงเรือน โดยมีวิสาหกิจชุมชนดาวเรืองภูเรือคุณนฤมล ทองวัตร เป็นเกษตรกรที่นำงานวิจัยไปพัฒนาปลูกในระบบโรงเรือนอัตโนมัติเพื่อการปลูกดาวเรืองปลอดสารเคมีเพื่อเพิ่มสารสำคัญ Lutein ในดอกดาวเรือง เป็นการเพิ่มมูลค่าของดอกดาวเรือง ซึ่งก่อนหน้านั้นราคาของดอกดาวเรืองตกต่ำมาก โดยการเพิ่มมูลค่านี้ยังสามารถนำไปผสมในเครื่องสำอางโดย ดร.วาลุกา พลายงาม อาจารย์จากวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ทำการทดสอบการเพิ่มขึ้นของสาร Lutein และนำไปทดสอบหาโลหะหนักในดอกดาวเรืองเพื่อนำไปพัฒนาผสมในผลิตภัณฑ์ได้อย่างปลอดภัยซึ่งต้องปลูกในระบบโรงเรือนเท่านั้น ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานวิจัยนวัตกรรม
การเสวนาเรื่องนวัตกรรมการผลิตพืชเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สรุปได้ว่าในการผลิตพืชในปัจจุบันต้องมีการนำวิธีหรือการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆขึ้นมาใช้ในการทำเกษตรกรรมให้มีความยั่งยืนในทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยในด้านเศรษฐกิจต้องมีรายได้หรือผลกำไรที่เพิ่มขึ้น ในด้านสังคมประชาชนต้องมีความสุขเมื่อมีการใช้เทคโนโลยีแล้วไม่เกิดความเดือนร้อนกับประชาชนโดยส่วนรวมและในด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ซึ่งอาศัยหลักการของ 3 P คือ profit (ผลกำไร) people (ประชากร) planet (โลก) ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและระบบการเกษตรของไทยให้มีความเป็นนวัตกรรมมากขึ้น
การเสวนาพิเศษสาขาพืช เรื่อง “นวัตกรรมการเกษตรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
“AGRICULTURAL INNOVATION FOR SUSTAINABLE DEVELOPMENT”
ในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 58
วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.30-16.30 น.
ณ ห้องประชุมธีระ สูตะบุตร ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
จันทร์แรม รูปขำ ผู้สรุปการเสวนา