ฟิล์มโปรตีนจากวัสดุเหลือทิ้งจากมะพร้าว

มะพร้าวเป็นพืชสำคัญชนิดหนึ่งในแถบประเทศเอเซียและอเมริกาใต้ มะพร้าวมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีการนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมากเช่นเนื้อมะพร้าวใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ เช่นกะทิ (coconut milk) มะพร้าวแห้ง (dried coconut copra) รวมทั้งน้ำมันมะพร้าว (coconut oil) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของตลาด ในอุตสาหกรรมที่มีการใช้มะพร้าวแปรรูปจะมีกากมะพร้าวและน้ำมะพร้าวแก่เป็นวัสดุเหลือทิ้งที่ยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะกากมะพร้าวซึ่งยังมีปริมาณโปรตีนสูง รวมทั้งไขมัน และคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สามารถนำมาเป็นโครงสร้างในการขึ้นรูปฟิล์มย่อยสลายได้ ส่วนน้ำมะพร้าวแก่สามารถสกัดสารที่น่าจะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่จะสามารถนำมาใช้เสริมสมบัติของฟิล์ม

ฟิล์มโปรตีนจากมะพร้าว
ขั้นตอนการทำงาน

นำกากมะพร้าวจากการคั้นกะทิมาทำแห้งเพื่อสกัดโปรตีนโดยใช้ด่าง (alkaline extraction) จากนั้นปรับให้เป็นกลาง แล้วทำแห้งด้วยวิธีแบบแช่เยือกแข็ง มีการตรวจสอบโปรตีนจากกากมะพร้าวได้แก่องค์ประกอบทางเคมี (ความชื้น โปรตีน ไขมัน และเถ้า) และศึกษาสมบัติของโปรตีนเช่น pH การละลาย อุณหภูมิในการเสียสภาพธรรมชาติ สมบัติทางกายภาพเช่นสี เป็นต้น ก่อนนำมาใช้ในการผลิตฟิล์มย่อยสลายได้ นอกจากนี้ยังศึกษาวิธีการสกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากน้ำมะพร้าวแก่โดยวิธีการระเหยตัวทำละลายโดยตรงเปรียบเทียบกับการใช้ตัวทำละลายในการสกัด และตรวจสอบปริมาณและสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดที่ได้ จากนั้น คัดเลือกโปรตีนจากกากมะพร้าวในตอนแรกมาศึกษาผลของโปรตีนเพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นฟิล์มย่อยสลายได้ร่วมกับการใช้น้ำมะพร้าวแก่โดยตรงซึ่งมีน้ำตาลอยู่สูงจึงเป็นการลดการใช้พลาสติไซเซอร์ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในการให้ความยืดหยุ่นแก่ฟิล์มย่อยสลายได้ (biodegradable film) รวมทั้งมีการเสริมสมบัติต้านอนุมูลอิสระของน้ำมะพร้าวแก่ในฟิล์มโปรตีนจากมะพร้าว

การนำวัสดุเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหาร ได้แก่กากมะพร้าวและน้ำมะพร้าวแก่ที่ยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์มากนัก โดยกากมะพร้าวสามารถสกัดสารที่มีปริมาณโปรตีนสูง รวมทั้งไขมัน และคาร์โบไฮเดรตมาใช้เป็นองค์ประกอบในการขึ้นรูปฟิล์มย่อยสลายได้ ส่วนน้ำมะพร้าวแก่สามารถสกัดสารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อนำมาใช้เสริมสมบัติของฟิล์ม จึงเป็นงานวิจัยที่เป็นการเพิ่มมูลค่าและลดปริมาณวัสดุเหลือทิ้งที่เน่าเสียได้ง่ายจากอุตสาหกรรมอาหารมาใช้ประโยชน์ ซึ่งฟิล์มย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำมาใช้รักษาคุณภาพและยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์อาหารและเกษตร

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
รศ.ดร. รังสินี โสธรวิทย์ และ น.ส. ภัทราทิพย์ รอดสำราญ
ภาควิชาวิศวกรรมการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 0-2579-0113 หรือ E-mail: fengrns@ku.ac.th

ผู้เรียบเรียง
น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร
ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.
E-mail : rdityt@ku.ac.th