MeatX (มีทเอ็กซ์) ระบบสำหรับประเมินคุณภาพเนื้อโคจากภาพถ่าย
ในตลาดเนื้อโคคุณภาพมีการพิจารณาจำแนกชั้นคุณภาพของเนื้อโคตามปริมาณไขมันแทรกในกล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการกำหนดราคารับซื้อและจำหน่าย ถูกดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญที่สหกรณ์หรือบริษัทเอกชนตั้งขึ้น โดยการประเมินด้วยสายตาและประสบการณ์ของผู้ประเมินนั้น ๆ ซึ่งอาจไม่เป็นมาตรฐานและขาดความยุติธรรม
MeatX เป็นแอพลิเคชั่นที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) เข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้และความแม่นยำ สำหรับใช้ประเมินไขมันแทรกด้วยการประมวลผลภาพถ่าย (Image processing) เพื่อจำแนกปริมาณเนื้อแดงและปริมาณไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ และประเมินเกรดคุณภาพเนื้อโคสำหรับใช้ทดแทนการประเมินด้วยวิธีดั้งเดิม ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยสร้างมาตรฐานเดียวกันในการประเมินคุณภาพ และสร้างธรรมาภิบาลแก่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยการประสานงานของหน่วยพันธุศาสตร์สัตว์ในเขตร้อน (TAGU; Tropical Animal Genetic Unit – tagu, Kasetsart University) ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และความร่วมมือจากภาคเอกชน โดยเฉพาะสหกรณ์เครือข่าย Max Beef บริษัท Smile Beef และ สหกรณ์โคเนื้อฯ โพนยางคำ ที่เอื้อเฟื้อภาพถ่ายหน้าตัดเนื้อสัน และ ข้อมูลผลการประเมินคุณภาพเนื้อโคของโคขุนที่ราคาซื้อ-ขายจริง ช่วยให้การพัฒนา MeatX มีประสิทธิภาพและความแม่นยำในการจำแนกคุณภาพเนื้อโคจากไขมันที่แทรกในกล้ามเนื้อได้ชัดเจน และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตและการค้าเนื้อโคคุณภาพของประเทศไทยและสากล
ขั้นตอนการทำงาน
ถ่ายภาพ หรือนำภาพหน้าตัดเนื้อสันเข้าสู่ฐานข้อมูล จากนั้น ระบบจะเตรียมรูปภาพด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image processing) ซึ่งประกอบด้วย
- กระบวนการแปลงภาพจากระบบสี RBG เป็น HSV (RBG to HSV color space) เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างพื้นที่เนื้อแดงของชิ้นเนื้อ พื้นที่ไขมันแทรกในกล้ามเนื้อรวมถึงพื้นที่ส่วนเกินของภาพที่ไม่ต้องการ
- กำหนดพื้นที่ที่ต้องการประเมินชิ้นเนื้อโดยตัดพื้นส่วนเกินออกจากการประเมิน (Region of interest by color segmentation)
- คำนวณพื้นที่ของเนื้อแดง และพื้นที่ของไขมันแทรกในกล้ามเนื้อของชื้นเนื้อที่ต้องการประเมิน
- จำแนกตำแหน่ง การกระจายตัว และขนาดของก้อนไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ
- นำข้อมูลปริมาณเนื้อแดง ปริมาณ ขนาด และการกระจายตัวของก้อนไขมันแทรก มาประเมินคุณภาพของเนื้อโคโดยการใช้ k-means clustering แบ่งเป็น 6 กลุ่ม และใช้ neural network สร้างตัวจำแนก ซึ่งสามารถประเมินคุณภาพเนื้อโคได้ 9 ระดับ ได้แก่ คุณภาพระดับ 1, 1.5, 2, 2.5, 3, 3.5, 4, 4.5 และ 5 โดยมีคุณภาพเนื้อโคจากต่ำไปถึงคุณภาพดีเยี่ยมตามลำดับ
สามารถติดตามผลงานได้ที่ : https://madlab.cpe.ku.ac.th/MeatX
ทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ (ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร)
ผู้ร่วมโครงการ :
รศ.ดร.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า (ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์)
ผศ.ดร.ธนาทิพย์ สุวรรณโสภี (ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร)
รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ (ภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร)
ดร.ดนัย จัตวา (ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร)
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม : Email : agrskk@ku.ac.th
ผู้เรียบเรียง : น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร Email : rdityt@ku.ac.th
(ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.)