กระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสนม่วงจัมโบ้
กระเจี๊ยบแดง ชื่อสามัญ Roselle (Hibiscus sabdariffa L.)
กระเจี๊ยบแดง เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่หลายคนคงคุ้นเคย อาทิเช่นน้ำกระเจี๊ยบที่ให้รสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน ดื่มแล้วชื่นใจ กระเจี๊ยบแดงยังอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ที่มีสรรพคุณต่อสุขภาพมากมาย ไม่ว่าจะเป็นส่วนดอก ส่วนต้น หรือส่วนใบ ล้วนแต่สามารถนำมาเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับทุกคนได้ ถ้ายังไม่ทราบก็มารู้จักประโยชน์ของกระเจี๊ยบแดงกันเลย
กลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบแดงเป็นแหล่งของสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ละลายน้ำได้ดี ให้สีแดงและสีม่วง ประกอบด้วยสาร delphinidin-3-sambubioside เป็นองค์ประกอบหลัก และสาร cyanidin-3-sambubioside กลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยวเนื่องจากในกลีบเลี้ยงมีกรดอินทรีย์หลายชนิดในปริมาณสูง มีวิตามินซีสูง และยังมีกรด HCA ที่พบว่าสามารถช่วยลดน้ำหนักได้
ปัจจุบันมีการสกัดสารแอนโทไซยานินเพื่อใช้เป็นสีผสมอาหารจากธรรมชาติ ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากสามารถช่วยส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดแดง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยชะลอการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด ช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งและยับยั้งเนื้องอก ลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ เสริมภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ดีขึ้น และชะลอความเสื่อมของเซลล์ เป็นต้น
สรรพคุณของกระเจี๊ยบแดง
- กลีบเลี้ยงอุดมไปด้วยสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
- เป็นยาสมุนไพรสามารถขับปัสสาวะ ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะ
- ช่วยลดความดันโลหิตช่วยเสริมการทำงานของเม็ดเลือดแดง ควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวาน
- ลดการเกินไขมันอุดตันในหลอดเลือด ลดภาวะเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ
- ลดโอกาสการเกิดมะเร็งและยับยั้งเนื้องอก
ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสนโดย คุณอุทัยวรรณ ด้วงเงิน นักปรับปรุงพันธุ์และทีมนักวิจัย ได้ทำการปรับปรุงพันธุ์กระเจี๊ยบแดงลูกผสมระหว่างกลีบยาวและพันธุ์ซูดานจำนวน 8 รุ่น สามารถคัดเลือกได้กระเจี๊ยบแดงสายพันธุ์แท้ โดยให้ชื่อพันธุ์ว่า กระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสน มีจำนวนทั้งหมด 13 พันธุ์ ดังนี้
- ม่วงจัมโบ้
- ม่วงจัมโบ้กลีบบาน
- ม่วงจัมโบ้กลีบหุบ
- HA กลีบหุบ
- HA กลีบบาน
- แดงจัมโบ้
- แดงจัมโบ้กลับบาน
8. แดงจัมโบ้กลีบหุบ
9. ชมพูจับโบ้
10. ชมพูจัมโบ้กลีบบาน
11.ชมพูจัมโบ้กลีบหุบ
12. ขาวจัมโบ้
13. ขาวจัมโบ้กลีบบาน
ลักษณะเด่นของกระเจี๊ยบแดงพันธุ์กำแพงแสนม่วงจัมโบ้
- กลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ รูปทรงยาวค่อนข้างหนามีสีแดงอมม่วง หรือสีม่วง
- มีสารแอนโทไซยานิน และสารประกอบฟีนอลิกรวมและออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในปริมาณสูง
- ลำต้นแข็งแรง แตกกิ่งก้านให้ผลผลิตสูง
- สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วกว่าพันธุ์อื่น
เราสามารถบริโภคกระเจี๊ยบแดงได้ทั้งผลและใบ โดยนิยมเอาผลไปต้มเป็นเครื่องดื่ม ส่วนใบใช้ทำอาหารคาว ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก และทั้งส่วนมีรสชาติออกเปรี้ยว ในส่วนกลีบเลี้ยงของผลกระเจี๊ยบมีสารโทไซยานินปริมาณมากกว่าบลูเบอรี่ ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างความแข็งแรงแก่หลอดเลือด ลดความดันโลหิต โรคมะเร็ง และชะลอความแก่ ทั้งยังดูดซึมเข้าสมองอย่างรวดเร็ว ช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม
แหล่งปลูกกระเจี๊ยบแดงที่สำคัญอยู่ที่จังหวัดลพบุรี นิยมปลูกแบบหว่านเมล็ดโดยใช้พันธุ์ซูดานหรือพันธุ์เกษตรซึ่งให้ผลผลิตดีและมีกลีบเลี้ยงที่หนาใหญ่ เริ่มปลูกกันในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ควรปลูกเป็นแถวยกร่อง ห่างกัน 50-70 ซม. โดยการหยอดหลุม หลุมละ 3-4 เมล็ด เมื่อเมล็ดงอกให้ถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออกให้เหลือ 1-2 ต้น เพื่อป้องการแย่งอาหารและโรคโคนเน่าตามมาได้ ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตคือเดือนธันวาคม-มกราคม
การดูแลรักษา ในช่วง 1-2 เดือนแรก ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและต้อวมีการกำจัดวัชพืช ให้ปุ๋ยให้ 2 ครั้ง ครั้งแรก 20-25 วัน และครั้งที่สอง 50-60 วัน โดยใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ไร่ละ 25กก. เรื่องแมลงศัตรูพืชมีน้อยมาก เมื่อมีอายุ 60-70 วัน กระเจี๊ยบแดงจะเริ่มออกดอก และเมื่อ 100-120 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยให้ตัดเฉพาะฝักกลีบเลี้ยงที่โตเต็มที่ ยังเป็นสีเขียว และยังไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จะได้ปริมาณสารแอนโทไซยานินและกรดอินทรีย์ต่างๆ ในปริมาณสูงสุด
ข้อควรระวัง เมื่อรับประทานกระเจี๊ยบแดงร่วมกับยา คือจะไปเสริมฤทธิ์การขับปัสสาวะของยาขับปัสสาวะ และลดการดูดซึมของยาแก้ปวดพาราเซตามอล ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดงร่วมกับการรับประทานยา และไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไตหรือมีความผิดปกติของไต
ผู้วิจัย : นางอุทัยวรรณ ด้วงเงิน
ศูนยวิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
โทร. 081-936-9260     Email : rdiuwd@ku.ac.t
ผู้เรียบเรียง : น.ส.ทิสยา ทิศเสถียร Email : rdityt@ku.ac.th
(ฝ่ายเผยแพร่งานวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่ง มก.)